อาการเลือดออก
ผู้ป่วยโรคฮีโมฟิเลียที่คลอดโดยวิธีธรรมชาติมักจะไม่มีอาการเลือดออกในวัยแรกเกิด บางรายอาจมีจ้ำเขียวตามลำตัวหรือแขนขา แต่ถ้าคลอดโดยการทำหัตถการ เช่น ใช้เครื่องดูดหรือใช้คีม จะมีเลือดออกใต้ผิวหนังที่ศีรษะ อาการเลือดออกนี้ อาจรุนแรงมาก จนซีดได้ สำหรับสะดือจะหลุดเหมือนเด็กปกติ ไม่มีเลือดออกผิดปกติ หากขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศจะมีเลือดออกมาก โอกาสเลือดออกในสมองพบได้ไม่บ่อย นอกจากได้รับอุบัติเหตุ ในประเทศไทย ผู้ป่วยเด็กโรคฮีโมฟิเลียเริ่มมีอาการเลือดออก เมื่ออายุต่ำกว่า ๖ เดือน พบร้อยละ ๔๘ เริ่มมีเลือดออกเมื่ออายุ ๖-๑๒ เดือน พบร้อยละ ๓๑ อาการเลือดออกครั้งแรกที่พบได้บ่อยคือ จ้ำเขียวตามลำตัวหรือแขนขา พบร้อยละ ๕๖ รองลงมาคือ เลือดออกในกล้ามเนื้อ พบร้อยละ ๑๙ เมื่อเริ่มหัดคลาน ตั้งไข่ เดิน จะมีจ้ำเขียวตามลำตัวและแขนขาได้บ่อยขึ้น เมื่อฟันหลุดจะมีเลือดออกมากกว่าเด็กปกติ ต่อมาจะมีอาการเลือดออกในข้อ ในกล้ามเนื้อ ข้อที่มีเลือดออกที่พบบ่อยที่สุดคือ ข้อเข่า รองลงมาคือ ข้อเท้า ข้อศอก หากมีอาการเรื้อรังและไม่ได้รับการรักษา ที่เหมาะสม จะเริ่มมีข้อพิการ กล้ามเนื้อลีบ เมื่ออายุประมาณ ๑๐-๑๕ ปี
การเกิดจ้ำเขียวตามร่างกาย เป็นอาการเลือดออกครั้งแรกในผู้ป่วยโรคฮีโมฟิเลีย
ในผู้ป่วยแต่ละคนจะมีอาการเลือดออกที่ไม่เหมือนกัน บางคนมีโอกาสเกิดอาการเลือดออกได้มากกว่า อาจเพราะไม่ได้ระมัดระวัง ในช่วงวัยเด็กเล็ก เมื่อเกิดอาการเลือดออกที่ข้อส่วนใด โอกาสที่จะเกิดอาการเลือดออกในข้อดังกล่าว จะเพิ่มขึ้นจนซ้ำซาก ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะข้อพิการได้ ดังนั้น จึงต้องระมัดระวัง ไม่ให้เกิดเลือดออกในข้อซ้ำๆ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องให้การรักษา ที่ถูกต้อง และเพียงพอ เพื่อให้ข้อนั้นหายเป็นปกติมากที่สุด หากได้รับการดูแลรักษาข้อในวัยเด็กได้ดี จะช่วยให้ข้อแข็งแรงและปกติ ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ กล้ามเนื้อและข้อจะแข็งแรงมากขึ้น ทำให้มีเลือดออกในข้อน้อยลง