การศึกษาและการทำงานที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย
ในเรื่องการศึกษาของผู้ป่วยโรคฮีโมฟิเลีย ผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่ยังสามารถเรียนในโรงเรียนปกติได้ บางคนก็เรียนในโรงเรียนภาคสมทบ มีเพียงส่วนน้อยที่มีอายุระหว่าง ๙-๒๒ ปี และยังอยู่ในวัยเรียน แต่ไม่สามารถเข้าเรียนได้ บางคนมีความพิการทางกายหรือปัญญาอ่อนมาก บางคนมีอาการซึมเศร้าจากที่ป่วยเป็นโรคฮีโมฟิเลีย จนกลายเป็นคนเก็บตัว ตัดขาดจากสังคม และบางคนไม่อยากไปโรงเรียน
ผู้ป่วยเด็กโรคฮีโมฟิเลียถึงแม้ว่าจะมีความบกพร่องทางกายบ้าง แต่ด้านสติปัญญา วิริยอุตสาหะ ไม่ด้อยกว่าเด็กทั่วไป บางครั้ง ต้องหยุดเรียนพักอยู่ที่บ้าน เพราะมีอาการเลือดออกในข้อในกล้ามเนื้อ บางครั้งมีอาการเลือดออกมาก ก็ต้องมาเข้ารับการรักษา ในโรงพยาบาล และต้องมาตรวจตามที่แพทย์นัด ดังนั้น ผู้ป่วยโรคฮีโมฟิเลียจึงมักจะขาดเรียน ร้อยละ ๕-๑๐ ของเวลาเรียนทั้งหมด ทั้งนี้ ครูควรเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องขาดเรียน ในบางครั้งอาจไม่สามารถเข้าสอบในเวลาที่ทางโรงเรียนกำหนดไว้ให้ ควรหาทางผ่อนผัน หรือดัดแปลงเวลาเรียน และเวลาสอบให้แก่ผู้ป่วยโรคนี้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถเรียนหนังสือร่วมกับเด็กปกติได้ และเรียนรู้ การประมาณร่างกายและจิตใจของตนเองว่าจะร่วมกิจกรรมทางสังคมกับเด็กปกติได้มากน้อยเพียงใด เป็นการเตรียมความพร้อมให้สามารถอยู่ร่วมกับคนปกติในสังคมด้วยความสุข นอกจากนี้ การที่มีผู้ป่วยโรคฮีโมฟิเลียในชั้นเรียน ก็เป็นประโยชน์ต่อเด็กปกติ ในด้านการเรียนรู้ การแสดงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเอื้ออาทรต่อเพื่อน รวมทั้ง เป็นการกล่อมเกลาจิตใจเด็กปกติให้มีความอ่อนโยน และเห็นอกเห็นใจเพื่อนที่เจ็บป่วยอีกด้วย
ด้านการงานอาชีพของผู้ป่วยโรคฮีโมฟิเลียในอนาคต ขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยหลีกเลี่ยงอาชีพ ที่เสี่ยงต่อการกระทบกระแทก ซึ่งจะทำให้มีเลือดออกได้ง่าย สำหรับอาชีพทหารหรือตำรวจคงไม่เหมาะกับผู้ป่วย ผู้ป่วยสามารถนำใบรับรองแพทย์ไปแสดง เพื่อขอยกเว้นการเกณฑ์ทหาร ผู้ป่วยที่ทำงานแล้ว ส่วนใหญ่จะทำงานอิสระส่วนตัว หรือช่วยกิจการของทางบ้าน