การดูแลสุขภาพช่องปาก
ในคนไทย การมีเลือดออกในช่องปากของผู้ป่วยโรคฮีโมฟิเลียอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง รองลงมาจากเลือดออกในข้อ และในกล้ามเนื้อ โดยมีปัญหาเลือดออกในช่องปากถึงร้อยละ ๑๕ ซึ่งยังอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับชาวต่างชาติ ดังนั้น การดูแลรักษาตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคในช่องปาก และรักษาสุขภาพอนามัยช่องปากให้สะอาด จะเป็นการลดอัตราการมีเลือดออกในช่องปากลงได้ นอกจากนี้การพบทันตแพทย์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง จะช่วยลดปัญหาความยุ่งยากในการรักษาลงได้มาก เช่น เมื่อเริ่มมีฟันผุต้องได้รับการอุดตั้งแต่ระยะแรก เพื่อป้องกันโรค ไม่ให้ลุกลามทำลายตัวฟันไปมาก ลดโอกาสที่จะเกิดฟันผุถึงขอบเหงือกซึ่งจะทำให้เลือดออกได้ เมื่อเกิดปัญหาจนฟันผุ ได้ลุกลามไปมาก และทำลายโครงสร้างของตัวฟันไปหมด จะทำให้วิธีการรักษายุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีก ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาล และได้รับส่วนประกอบของเลือดหรือแฟกเตอร์เข้มข้น ทำให้ขั้นตอนการทำฟันซับซ้อนกว่าการทำฟันในคนปกติ และเสียค่าใช้จ่าย ในการรักษาเพิ่มมากขึ้น
การฉีดกาวไฟบรินที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีพัฒนาขึ้นมา
เป็นสารห้ามเลือดที่ช่วยลดการใช้แฟกเตอร์เข้มข้นอย่างมาก
ในปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้พัฒนาเทคนิควิธีการห้ามเลือดขึ้นอีก โดยพยายามไม่ให้มีส่วนประกอบ ของเลือดหรือแฟกเตอร์เข้มข้นเลย หรือถ้าจำเป็นต้องใช้ก็จะใช้ในปริมาณน้อยที่สุด เป็นการใช้สารห้ามเลือดที่พัฒนาขึ้นมา เรียกว่า กาวไฟบริน (fibrin glue) ฉีดลงบนแผล เย็บปิดแผล แล้วปิดทับแผลนั้นโดยใช้เฝือกห้ามเลือด (dental splint) ทับอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งวิธีการดังกล่าวให้ผลการรักษาที่ดีเป็นที่น่าพอใจ ทำให้ลดการใช้แฟกเตอร์เข้มข้นลงอย่างมาก