เล่มที่ 39
โรคเลือดออกฮีโมฟิเลีย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การดูแลทั่วไปและการแนะนำ

มีเครื่องหมายประจำตัวแสดงโรคฮีโมฟิเลีย

            ผู้ป่วยทุกคนควรมีบัตรประจำตัวผู้ป่วย (identification card) หรือจี้ห้อยคอที่มีชื่อของผู้ป่วย ชื่อโรค หมู่เลือด และชื่อโรงพยาบาล ที่ผู้ป่วยมารับการรักษาโรคเป็นประจำ เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือมีอาการเลือดออกที่รุนแรง และมีผู้ประสบเหตุนำส่งโรงพยาบาล ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง และทันกาล

การป้องกันอุบัติเหตุ

            เด็กเล็กที่เป็นโรคฮีโมฟิเลียต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากเด็กมักจะซุกซน มีการกระทบกระแทกและเลือดออกได้บ่อยๆ พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่มีส่วนสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วย จัดสิ่งแวดล้อมในบ้านที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย หาของเล่นที่เหมาะสม ของเล่นควรทำด้วยผ้าหรือพลาสติกยาง ที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย กางเกงควรบุด้วยฟองน้ำหรือผ้าขนหนูที่บริเวณข้อเข่า ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีเลือดออกได้ง่าย ส่วนเสื้อก็ควรบุที่บริเวณข้อศอกเช่นเดียวกัน สำหรับเฟอร์นิเจอร์ควรจะนุ่ม ทำด้วยพลาสติก หรือผ้า ไม่มีเหลี่ยม ถ้ามีเหลี่ยมหรือมีมุมแหลม ควรใช้ฟองน้ำ ผ้าขนหนู หรือแผ่นพลาสติกหุ้มบริเวณที่เป็นมุมแหลม จะช่วยลดอุบัติเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเลือดออกได้

ชุดป้องกันอุบัติเหตุในเด็กเล็ก

การฉีดยาป้องกันโรค

            ผู้ป่วยโรคฮีโมฟิเลียสามารถรับวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ได้เหมือนเด็กปกติ แต่ใช้เข็มที่เล็กและคม ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง แทนการฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อ และกดนานประมาณ ๑๐-๑๕ นาที หลังฉีดยา สำหรับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี ให้ฉีด ๒ เข็มแรก ห่างกัน ๑ เดือน และเข็มที่ ๓ ห่างจากเข็มที่ ๒ เป็นเวลา ๕ เดือน ส่วนวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบเอ ให้ฉีด ๒ เข็มห่างกัน ๖ เดือน


การฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ให้แก่ผู้ป่วยโรคฮีโมฟิเลียต้องใช้เข็มเล็กและคม

สุขภาพทั่วไป

            ผู้ป่วยควรระมัดระวังไม่ให้อ้วน เพราะน้ำหนักที่มากจะทำให้ข้อต่างๆ โดยเฉพาะข้อเข่า ข้อสะโพก หรือข้อเท้า ต้องแบกรับน้ำหนัก ทำให้มีโอกาสเลือดออกในข้อเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารครบ ๕ หมู่ วันละ ๓ มื้อ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ขนมที่มีรสหวานจัด และน้ำอัดลม ผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงจะมีอาการเลือดออกน้อยกว่า และหายเป็นปกติเร็วกว่า

การเลี้ยงดูโดยทั่วไป

            พ่อแม่ควรจะเลี้ยงดูลูกที่ป่วยให้เหมือนกับลูกคนอื่นๆ ไม่ควรให้สิทธิพิเศษเกินความจำเป็น สามารถทำโทษได้ โดยหลีกเลี่ยงการตี เช่น งดพาไปเที่ยว งดดูโทรทัศน์ หักค่าขนม ฯลฯ ควรมอบหมายงานในบ้านที่เหมาะสม ให้ทำโดยไม่มีข้อยกเว้น เช่น รดน้ำต้นไม้ กวาดบ้าน พ่อแม่ที่ประคบประหงมผู้ป่วยมากจนเกินไป กลับจะทำให้เกิดผลเสียแก่ผู้ป่วย ผู้ป่วยจะกลายเป็นเด็กที่อ่อนแอ เอาแต่ใจตนเอง ไม่เกรงใจผู้อื่น ก้าวร้าว และมีอารมณ์โมโหฉุนเฉียว จนไม่สามารถเข้ากับพี่น้องหรือเพื่อนที่โรงเรียนได้ และจะกลายเป็นคนที่สังคมรังเกียจ ไม่มีใครอยากจะคบหาด้วย

สิ่งแวดล้อมในบ้าน

            จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้สะอาด สะดวก และปลอดภัย พื้นบ้านและพื้นห้องน้ำต้องแห้งและสะอาด ในห้องน้ำและห้องสุขา ควรมีราวให้ผู้ป่วยยึดเกาะ และมีเก้าอี้ไว้ให้อาบน้ำในห้องน้ำ ห้องสุขาควรใช้สุขภัณฑ์เป็นโถนั่ง หรือดัดแปลงจากสุขภัณฑ์ ชนิดนั่งยองๆ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุลื่นหกล้มในห้องน้ำห้องสุขา