กำเนิดอุดมศึกษาไทย
การอุดมศึกษาในประเทศไทยได้ถือกำเนิดขึ้นก่อนมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย กล่าวคือ ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ มีพระบรมราโชบายในการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดตะวันตก เรื่องการอุดมศึกษา ซึ่งอาจจำแนกออกเป็น ๒ ทาง คือ แนวคิดที่หมอสอนศาสนาชาวต่างประเทศนำมาเสนอ และแนวทาง ที่ได้จากการเสด็จประพาสยุโรป รวมถึงการที่ทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการต่างๆ ที่ประเทศในยุโรป ด้วยทรงมีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาบ้านเมือง และมีพระบรมราโชบายปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้พระยาวิสุทธิ์สุริยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) อัครราชทูตไทย ประจำประเทศอังกฤษ และพระยาสุริยานุวัติ (เกิด บุนนาค) อัครราชทูตไทยประจำประเทศฝรั่งเศส ศึกษาและจัดทำรายงาน กราบบังคมทูลเสนอแบบแผนการจัดการศึกษาในทั้ง ๒ ประเทศ ใน พ.ศ. ๒๔๔๑ ในรายงานนี้ปรากฏคำว่า "ปัจฉิมศึกษา" ซึ่งหมายถึง "อุดมศึกษา" เป็นการศึกษาระดับที่ ๓ รับเด็กอายุ ๑๙ ปี และเรียนจบเมื่ออายุ ๒๒ ปี ต่อจากประถมศึกษา และมัชฌิมศึกษา (มัธยมศึกษา) และในปีเดียวกันนั้น กระทรวงธรรมการได้เรียบเรียงโครงร่างการศึกษาของชาติ พ.ศ. ๒๔๔๑ ที่เสนอลำดับ การเล่าเรียนไว้เป็นเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องสูงสุด คือ อุดมศึกษา ที่ถือเอา "วิทยาลัย" หรือ "สกลวิทยาลัย" ไว้เป็นสถานที่เรียนในชั้นสูงสุด โดยมีชื่อเรียกว่า "รัตนโกสินทร์สกลวิทยาลัย" มุ่งหมายรับผู้เข้าเรียนที่มีอายุระหว่าง ๑๘-๒๒ ปี
อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในช่วง พ.ศ. ๒๔๓๒-๒๔๔๒ กระทรวงธรรมการได้จัดตั้งโรงเรียนอาชีพบางแห่ง ซึ่งเป็น "สถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพ ระดับต่ำกว่าปริญญา" จำนวน ๕ สถาบัน ได้แก่ โรงเรียนราชแพทยาลัย (พ.ศ. ๒๔๓๒) โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ (พ.ศ. ๒๔๓๕) โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม (พ.ศ. ๒๔๔๐) โรงเรียนมหาดเล็ก (พ.ศ. ๒๔๔๒) และโรงเรียนปกครอง ของกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ. ๒๔๔๒) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญก่อนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยในเวลาต่อมา