มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบรมราโชบาย ของสมเด็จพระบรมราชชนก ที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้น สำหรับเป็นสถาบันอุดมศึกษา สมควรขยายการจัดการศึกษา เพื่อสนองความต้องการด้านแรงงาน ของกระทรวง ทบวง และกรมอื่นๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษา และพระราชทานนามว่า "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ต่อมารัชกาลที่ ๖ มีพระราชดำริที่จะขยายการศึกษาในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น คือ ไม่รับเฉพาะผู้ที่จะเล่าเรียน เพื่อรับราชการเท่านั้น แต่จะรับผู้ซึ่งประสงค์จะศึกษาขั้นสูงให้ได้เข้าเรียนทั่วถึงกัน และในวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘ เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์ตึกบัญชาการ ซึ่งต่อมาคือ ตึกอักษรศาสตร์ ๑ และปัจจุบันคือ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ในวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติ แห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ที่เป็นสถาบันการศึกษาวิชาชั้นสูง มุ่งผลิตข้าราชการให้แก่กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
พระบรมราชานุสาวรีย์ ๒ รัชกาล ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย