เล่มที่ 38
การอุดมศึกษา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
มหาวิทยาลัยที่ไม่จำกัดการรับนักศึกษาแห่งแรก

            ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขใน พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศชาติจึงต้องมีการพัฒนา ให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจทางกฎหมาย การปกครอง และสังคมในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ทางราชการ จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. ๒๔๗๖ เพื่อเปิดสอนในวิชาแขนงดังกล่าว โดยยกฐานะโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม พร้อมกับได้โอนคณะนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาขึ้นต่อมหาวิทยาลัยด้วย เมื่อพระราชบัญญัติผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ได้มีพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขึ้นเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจึงเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ไม่จำกัดจำนวนการรับนักศึกษา และเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความสำคัญในด้านการขยายโอกาสทางการอุดมศึกษาที่กว้างขวางในลักษณะที่เป็น "ตลาดวิชา" เปิดรับนักศึกษา โดยไม่มีการสอบคัดเลือกและมุ่งเน้นสาขาวิชาเฉพาะทาง คือ วิชาด้านกฎหมายและการเมือง เป็นการตั้งชื่อมหาวิทยาลัยตามศาสตร์ที่เปิดสอน ซึ่งในเวลาต่อมามีมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งตั้งชื่อเน้นตามศาสตร์สาขาเฉพาะ เช่น มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อมามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้เปลี่ยนวิธีการรับนักศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยที่จำกัดจำนวนรับ โดยเปิดสอนสาขาวิชาที่หลากหลายมากขึ้น และเปลี่ยนชื่อเป็น "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"


มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดสอนเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ใช้ชื่อว่า
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง