เล่มที่ 38
การอุดมศึกษา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
มหาวิทยาลัยเพื่อการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

            ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย การอุดมศึกษาในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งเป็นผลจากการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ ถือได้ว่า เป็นการปฏิรูปการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยครั้งสำคัญและใน พ.ศ. ๒๔๙๙ มีการพิจารณารวมสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในสังกัดกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ หลายหน่วย ให้มาอยู่ในสังกัดหน่วยงานระดับชาติเดียวกัน เรียกว่า สภามหาวิทยาลัยแห่งชาติ ปัจจุบันคือ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เพื่อให้การจัดวางหลักสูตร การจัดการศึกษา การจัดตั้งคณะ แผนกวิชา การแต่งตั้งตำแหน่งศาสตราจารย์ และรองศาสตราจารย์ เป็นมาตรฐานเดียวกัน และอยู่ในระดับเดียวกันกับมาตรฐานของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ

            ต่อมามีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่เน้นวิชาเฉพาะทาง เพื่อสนองการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอีก ๓ แห่ง คือ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ในปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยมหิดล) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้ง ๓ มหาวิทยาลัยนี้ล้วนจัดตั้งขึ้นในปีเดียวกัน คือ พ.ศ. ๒๔๘๖


สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ

            ในช่วงต้นทศวรรษที่ ๒๕๐๐ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๑๑ มีการขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นอุดมศึกษาไปสู่ภูมิภาค มีการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยแห่งใหม่ขึ้นในภูมิภาค ๓ แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ การจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภูมิภาคขึ้น ก็เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาภาคต่างๆ ของประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ให้มีความเจริญทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านการศึกษา สำหรับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั้น จัดให้มีศูนย์ดำเนินการศึกษา ซึ่งต่อมาได้ใช้คำว่า วิทยาเขต มี ๒ แห่ง คือ ศูนย์ที่จังหวัดปัตตานี และศูนย์ที่จังหวัดสงขลา


มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต จังหวัดปทุมธานี เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน

            ปรากฏการณ์การอุดมศึกษาที่สำคัญเกิดขึ้นในช่วงการพัฒนาประเทศไทยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๒  พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๑๔ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๑๙ และฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๒๔ รวมเวลา ๑๕ ปี ประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาเกิดขึ้นมากกว่า ๖๐ แห่ง กระจายอยู่ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยเปิด และมหาวิทยาลัยเอกชนเกิดขึ้น เพื่อสนองความต้องการของประเทศชาติ ในการเป็นแหล่งผลิตกำลังคนระดับสูง ให้เป็นไปตามทิศทางการพัฒนาประเทศด้วย สถาบันอุดมศึกษาบางแห่งเปิดสอนระดับปริญญาตรี จนถึงระดับบัณฑิตศึกษาทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก ในขณะที่บางแห่ง มุ่งเน้นเฉพาะระดับบัณฑิตศึกษาเท่านั้น

            ใน พ.ศ. ๒๕๕๔ ประเทศไทยมีการบริหารตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔  สถาบันอุดมศึกษาประเภทต่างๆ มีชื่อเรียกทั้ง มหาวิทยาลัย สถาบัน วิทยาลัย จัดตั้งขึ้นทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัยในสังกัดของรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยเอกชน สถาบันเอกชน วิทยาลัยเอกชน วิทยาลัยชุมชน ทั้งที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และสังกัดกระทรวงอื่นๆ