เล่มที่ 38
การอุดมศึกษา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ความร่วมมือในการพัฒนาของการอุดมศึกษาในอาเซียน

            สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ประกอบด้วยสมาชิก ๑๐ ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยมีสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ตั้งอยู่ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย


จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ

            ทั้ง ๑๐ ประเทศ ซึ่งเป็นสมาชิกของอาเซียน ได้ร่วมมือกันพัฒนาการศึกษา ระดับอุดมศึกษาของประเทศสมาชิกในรูปแบบต่างๆ ที่สำคัญคือ ร่วมกันจัดตั้งองค์การ และดำเนินการพัฒนาอุดมศึกษา ดังนี้

๑. เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network: AUN)

            ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๓๘ โดยมีจุดมุ่งหมายประการสำคัญ คือ การส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการศึกษา อันถือเป็นกลไกสำคัญ ในการสร้างรากฐานให้แก่สังคม และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์อาเซียน ๒๐๑๕ ที่มุ่งสร้างอาเซียนให้เป็นหนึ่ง มีสำนักงานเลขานุการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนตั้งอยู่ที่ อาคารจามจุรี ๑ ชั้น ๒ ห้อง ๒๑๐  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ นับตั้งแต่การก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนมีสมาชิกรวมกันทั้งสิ้น ๒๖ มหาวิทยาลัย จาก ๑๐ ประเทศสมาชิกอาเซียน สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยที่เป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันมีการจัดกิจกรรมหลากหลาย เช่น การจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือห้องสมุดออนไลน์ โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยสมาชิก โดยสนับสนุนทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพและมาตรฐานอุดมศึกษา ของมหาวิทยาลัยสมาชิกให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และการสืบสานโครงการพัฒนาผู้นำเยาวชนอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างเครือข่ายระหว่างเยาวชนที่เคยได้เข้าร่วมโครงการ  เพื่อเสริมสร้างความสมานฉันท์และเข้าใจ ซึ่งกันและกัน อย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีเวทีในการแสดงความสามารถด้านวาทศิลป์ การแสดงออกทางความคิด รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นประเด็นที่เกี่ยวกับอาเซียน


มหาวิทยาลัยมหิดล
จังหวัดนครปฐม

๒. ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยการอุดมศึกษาและการพัฒนา (SEAMEO Regional Centre for Higher Education and Development: SEAMEO RIHED)

            เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization: SEAMEO) มีบทบาทสำคัญ ในการส่งเสริมความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และคุณภาพของการอุดมศึกษา ในภูมิภาค โดยจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๖ จากการที่ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีข้อตกลงร่วมกันที่จะก้าวเข้าสู่ การเป็นประชาคมอาเซียน ใน พ.ศ. ๒๕๕๘ ศูนย์ SEAMEO RIHED จึงได้กำหนดบทบาทของศูนย์ฯ ให้เป็นตัวจักรสำคัญ ในการประสานความร่วมมือ ในระดับนโยบายทางด้านการศึกษาของภูมิภาคกับบรรดาประเทศสมาชิกทั้ง ๑๑ ประเทศ  และเป็นหน่วยงานในการพัฒนาองค์ความรู้และเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบูรณาการ การอุดมศึกษา ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้แก่ผู้บริหารการอุดมศึกษา ทั้งในระดับกระทรวงและระดับมหาวิทยาลัย โดยมีโครงการหลักที่สำคัญ เพื่อการพัฒนา และบูรณาการการอุดมศึกษาของภูมิภาคอย่างยั่งยืน ดังนี้

๑. กระบวนการบูรณาการการอุดมศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Harmonization of Higher Education in Southeast Asia) โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการจัดตั้งเขตการอุดมศึกษาของอาเซียน (ASEAN Higher Education Common Space) เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายบุคลากร นักศึกษา งานวิจัยและทรัพยากรต่าง ๆ ทางด้านอุดมศึกษาอย่างเสรี ได้แก่

๑) โครงการนำร่องการเคลื่อนย้ายนักศึกษา (A Pilot Project on Student Mobility)
๒) ระบบการถ่ายโอนหน่วยกิตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA Credit Transfer System)
๓) ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา (ASEAN Quality Assurance System)  และ
๔) การจัดตั้งกลุ่มการวิจัยในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของอาเซียน และการสร้างดัชนีการอ้างอิงวารสารการวิจัยของอาเซียน (ASEAN Research Cluster and ASEAN Citation Index) 


การเรียนในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย

๒. การบริหารจัดการและการกำกับนโยบายอุดมศึกษา (University Management and Governance) การบริหารจัดการการอุดมศึกษาเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของศูนย์ฯ ที่มุ่งพัฒนาผู้บริหารการอุดมศึกษาทุกระดับในภูมิภาค ให้ได้มีการแลกเปลี่ยนและเพิ่มเติมประสบการณ์ผ่านกิจกรรมการฝึกอบรม การสัมมนา และการประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี


การเรียนในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย

๓.  สมาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(The Association of Southeast Asian Institutions of Higher Learning: ASAIHL)

            ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ในการประชุมอธิการบดีของมหาวิทยาลัยรัฐ ๘ แห่ง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีฐานะเป็นองค์การที่ไม่ใช่ของรัฐบาล มีสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นสมาชิกในอาเซียนอยู่ ๑๓๒ แห่ง และจากประเทศ ในภูมิภาคอื่นอีก ๕๑ แห่ง สมาคมฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยให้สถาบันอุดมศึกษาที่เป็นสมาชิกได้เสริมสร้างความเข้มแข็ง ของตนเอง โดยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความสำเร็จ ในด้านการสอน การวิจัย และการบริการสาธารณะ ในระดับนานาชาติ และยังส่งเสริม ให้สถาบันอุดมศึกษาได้เสริมสร้างความเข้มแข็ง ของตนเอง ทั้งในระดับประเทศ และในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาคมฯ มุ่งส่งเสริมการพัฒนาตนเองของสถาบันที่เป็นสมาชิก ให้เกิดการตื่นตัว ในความเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน ให้เกิดการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีปฏิสัมพันธ์กับองค์การในระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติในการวิจัยและการสอน รวมทั้งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง ในการแลกเปลี่ยนข่าวสาร หรือเปิดโอกาส ให้เกิดการแลกเปลี่ยนและอภิปราย เพื่อพัฒนางานด้านวิชาการและพัฒนามหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือสถาบันอุดมศึกษา ที่เป็นสมาชิก ในด้านการเสาะหาอาจารย์ และเจ้าหน้าที่ ในการแลกเปลี่ยนคณาจารย์และนักศึกษา และจัดตั้งโครงการ ความร่วมมือทางวิชาการ ยกย่องความสำเร็จดีเด่นในหมู่สถาบันการศึกษาขั้นอุดมศึกษา ในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กิจกรรมสำคัญของสมาคมฯ คือ การจัดการประชุมใหญ่ประจำปี การประชุมวิชาการ การบรรยายพิเศษ และการให้ทุนดูงานระยะสั้น ซึ่งกิจกรรมทั้งหมด จะจัดขึ้นในประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้