เล่มที่ 38
การอุดมศึกษา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การจำกัดจำนวนรับโดยการสอบคัดเลือกและการให้โควต้าพิเศษ

            สถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยส่วนใหญ่เปิดรับสมัครผู้เข้าเรียนโดยจำกัดจำนวนรับในแต่ละปี ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมหลายด้าน ทั้งทรัพยากรบุคคล ที่จะทำหน้าที่สอนและทรัพยากรต่างๆ เช่น อาคาร สถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ ห้องเรียน ห้องฝึกปฏิบัติการ ห้องสมุด สิ่งเอื้ออำนวยในการจัดการเรียนการสอน ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน การจำกัดจำนวนรับตามที่กำหนดในแต่ละปีการศึกษา จึงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ต้องมีระบบการสอบคัดเลือก ผู้ที่จะสมัครเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งจะกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครสอบ รวมทั้งกำหนดวิธีการ และเกณฑ์การพิจารณาตัดสิน ประกาศให้ทราบล่วงหน้า เพื่อให้ผู้สมัครมีข้อมูลประกอบการพิจารณาสมัครเข้ารับการสอบคัดเลือก

            ๑) ประเทศไทยมีระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ที่มีพัฒนาการตั้งแต่แรกเริ่ม และปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม แต่ละยุคสมัย ระบบที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ ระบบการคัดเลือกกลาง ซึ่งทบวงมหาวิทยาลัย ปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินการ วิธีการสอบเข้าศึกษาต่อ ในมหาวิทยาลัย เรียกว่า การสอบเอ็นทรานซ์ (Entrance) ซึ่งการสอบเอ็นทรานซ์นี้มีลักษณะสำคัญคือ การมุ่งวัดผล เพียงบางรายวิชา ทำให้ผู้เรียนเรียนเฉพาะวิชาที่ต้องใช้สอบ การตัดสินผลการคัดเลือกจากการวัดผลสอบเพียงครั้งเดียว ไม่มีการนำผลการเรียนระดับมัธยมศึกษา มาเป็นองค์ประกอบการพิจารณา  นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้เรียนมุ่งสอบเทียบ จากการศึกษานอกระบบ เพียงเพื่อให้มีคุณสมบัติเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ทำให้ไม่ต้องเรียนครบตามชั้นปี และผู้เรียนสมัครเข้าเรียนในคณะหรือสาขาวิชาของสถาบันโดยยังไม่รู้คะแนนผลการสอบของตนเอง มีการมุ่งเรียนกวดวิชา จากโรงเรียนกวดวิชาที่เปิดเป็นธุรกิจจำนวนมาก ซึ่งการเรียนโรงเรียนกวดวิชา มุ่งเน้นเฉพาะความรู้เกี่ยวกับวิธีการตอบข้อสอบ มากกว่าเนื้อหาวิชา การสอบเอ็นทรานซ์นี้ใช้จนถึง พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงปรับปรุงแก้ปัญหา โดยนำผลการเรียน ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (GPAX: Grade point Average และ PR: Percentile Rank) จำนวนร้อยละ ๑๐ มาใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกร่วมกับวิชาหลักและวิชาเฉพาะ การสอบระบบนี้ใช้ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๔๘


การสอบคัดเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย

            ต่อมา ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ได้เสนอให้มีการปรับปรุงการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระบบสอบรวมที่เรียกว่า แอดมิสชัน (Admissions) โดยเสนอให้ใช้ผลการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพิ่มขึ้น พร้อมกับการวัดผลความสามารถ ในการเรียนแต่ละสาขาวิชาด้วย อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกด้วยวิธีดังกล่าวยังมีข้อสงสัยว่า คะแนนเฉลี่ยสะสม (GPAX) นั้น สะท้อนความรู้ ทักษะทางวิชาการในการเรียนจริงหรือไม่ อีกทั้งคะแนน GPAX ของโรงเรียนต่างๆ ก็เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้ง ยังมีข้อสังเกตว่า มาตรฐานการวัดผลการศึกษาของแต่ละโรงเรียนอาจแตกต่างกัน วิธีการนี้ใช้ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๙-๒๕๕๒


นักเรียนทดสอบความถนัดด้านศิลปะ

            ๒) ใน พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้มีการเสนอแก้ไขปรับปรุงการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในระบบสอบกลาง โดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เสนอประเด็นสำคัญคือ ให้มีการสอบวิชาความถนัดทั่วไป (GAT: General Aptitute Test) ร้อยละ ๑๐-๕๐ และความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT: Professional Aptitute Test) ร้อยละ ๐-๔๐ ผู้สมัครยื่นพร้อมกับคะแนน GPAX ร้อยละ ๒๐ และคะแนน O-NET ร้อยละ ๓๐ การสอบ GAT/PAT นี้ ในแต่ละปีมีการเปิดสอบ มากกว่า ๑ ครั้ง ผู้เรียนจึงรู้คะแนนที่ตนเองทำได้ก่อนที่ตัดสินใจยื่นสมัครเรียนตามหลักสูตรของคณะ หรือสาขาวิชา ของมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาที่เหมาะสมกับตนเอง  

            นอกจากนี้ สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ยังจัดให้มีระบบรับตรงด้วย โดยแต่ละสถาบันกำหนดคุณสมบัติพิเศษ ความรู้ ทักษะทางวิชาการ และวิชาชีพที่ต้องการ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละคณะ สาขาวิชา และสถาบัน รวมทั้งยังจัดให้มี โควต้าพิเศษ เพื่อรับผู้เรียนตามความต้องการผลิตบัณฑิตออกสู่สังคม เช่น โควต้าพื้นที่รับนักเรียนจากเขตพื้นที่บริการในภูมิภาค เพื่อให้ท้องถิ่น มีบุคลากรสำเร็จการศึกษาระดับปริญญา โควต้าโครงการพิเศษสำหรับผู้ที่มีความสามารถพิเศษ เช่น ด้านดนตรี ศิลปะ และกีฬา เป็นการให้โอกาสแก่ผู้เรียนจากโรงเรียนที่ยังขาดความพร้อม เพื่อให้ได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา