เล่มที่ 38
การอุดมศึกษา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การดำเนินงานและควบคุมดูแลกิจการของสถาบันอุดมศึกษา

สถาบันอุดมศึกษาเป็นหน่วยงานขนาดใหญ่ที่มีบทบาทหน้าที่หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นแหล่งบ่มเพาะทรัพยากรมนุษย์ ของประเทศ ให้มีความรู้ความสามารถในทางวิชาการและวิชาชีพ ทุกมหาวิทยาลัยจึงต้องมีระบบ วิธีการ ตลอดจนกระบวนการต่างๆ ที่ได้กำหนดให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ดำเนินงานให้สำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน องค์กร รวมถึงบุคคลที่มีหน้าที่ ดำเนินงาน และควบคุมดูแลกิจการของสถาบันอุดมศึกษา ดังนี้

๑. สภาสถาบัน หรือสภามหาวิทยาลัย

สภาสถาบัน หรือสภามหาวิทยาลัย เป็นองค์กรสูงสุดของสถาบันหรือมหาวิทยาลัย โดยทั่วไปได้รับแต่งตั้งขึ้น ตามอำนาจ ในพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันหรือมหาวิทยาลัยแห่งนั้นๆ โครงสร้างของคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย มีลักษณะสำคัญค่อนข้างคล้ายคลึงกัน กล่าวคือประกอบด้วย นายกสภามหาวิทยาลัย อุปนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เป็นผู้แทนคณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัย กรรมการและเลขานุการสภามหาวิทยาลัย กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการสภามหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัย มีวาระการดำรงตำแหน่งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด อำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง มีรายละเอียดแตกต่างกันไป แต่อาจกล่าวได้ว่า สภามหาวิทยาลัยมีหน้าที่ส่วนที่คล้ายคลึงกัน เช่น การกำหนดนโยบาย ทิศทางของมหาวิทยาลัยในการจัดการศึกษา การวิจัย การบริการทางวิชาการแก่สังคม และการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ มีอำนาจหน้าที่ ในการจัดวางระเบียบข้อบังคับ การดำเนินงาน ทั้งการจัดตั้ง ยุบเลิกหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัย วางระเบียบการเงิน และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย อนุมัติปริญญา ประกาศนียบัตรชั้นสูง อนุปริญญา และประกาศนียบัตรตามหลักสูตรการศึกษา ของสถาบัน อนุมัติการรับและยกเลิกสถาบันอุดมศึกษาอื่นเข้าสมทบ อนุมัติแต่งตั้ง และถอดถอนผู้บริหารระดับรองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสำนัก รองคณบดี รองผู้อำนวยการสำนัก หรือหน่วยงานอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือบุคคล เพื่อกระทำการใดๆ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย

๒. ผู้บริหารมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยมีผู้ที่ทำหน้าที่บริหารงานของมหาวิทยาลัยให้ดำเนินภารกิจเป็นไปตามเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากการสรรหา การคัดเลือก และมีวาระการดำรงตำแหน่งเป็นไปตามที่แต่ละสถาบันกำหนด ได้แก่  

อธิการบดี

คือ ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย หากเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ อธิการบดีเป็นตำแหน่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางบางแห่ง เช่น โรงเรียนนายเรือ ใช้คำเรียกผู้บริหารสูงสุดว่า ผู้บัญชาการโรงเรียน


อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เขตวัฒนา กรุงเทพฯ

รองอธิการบดี

คือ ผู้บริหารระดับรองลงมาจากอธิการบดี ซึ่งอธิการบดีเป็นผู้เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อแต่งตั้ง มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ มีรองอธิการบดีหลายตำแหน่ง เพื่อแบ่งสายงานการกำกับดูแล เช่น รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ทั้งนี้ การเรียกชื่อและหน้าที่ของรองอธิการบดีแต่ละมหาวิทยาลัยจะแตกต่างกันตามภารกิจ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่าอธิการบดี

คณบดี

คือ ผู้บริหารคณะวิชาที่ทำการเรียนการสอน คณบดีมีจำนวนตามคณะของมหาวิทยาลัย บางมหาวิทยาลัยเรียกชื่ออย่างอื่น เช่น สาขาวิชา คณบดีอาจเสนอแต่งตั้งรองคณบดีให้ทำหน้าที่ตามที่มอบหมายได้ รองจากคณบดีมีหัวหน้าภาควิชา หรือหัวหน้าแขนงวิชา เป็นไปตามวิชาที่เปิดสอนของแต่ละมหาวิทยาลัย

ผู้อำนวยการ

ผู้อำนวยการสำนัก สถาบันและศูนย์ คือ ผู้บริหารหน่วยงานที่สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ เช่น ผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและวัดผล ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา ผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์ ในสำนัก สถาบัน และศูนย์ต่างๆ เหล่านี้ อาจมีรองผู้อำนวยการ หรือผู้ช่วยผู้อำนวยการ ทำหน้าที่ช่วยบริหารงานก็ได้

ในส่วนของวิทยาลัยชุมชน มีผู้อำนวยการเป็นผู้บริหารสูงสุด