บทบาทหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษา
ดังได้กล่าวแล้วว่า สถาบันอุดมศึกษาคือ สถาบันที่จัดการศึกษาที่สูงกว่าระดับมัธยมศึกษา มีทั้งที่เป็นระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี คือ ระดับบัณฑิตศึกษา โดยทั่วไปส่วนใหญ่ใช้คำว่า "มหาวิทยาลัย" ซึ่งใช้สำหรับสถาบัน ที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีและสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไป มหาวิทยาลัยจึงมีบทบาทหน้าที่ในการให้วิชาความรู้แก่ผู้ที่มาเรียน ดังที่ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก มีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า "มหาวิทยาลัยเป็นสมองต้นความคิด ของชาติ" การจัดตั้งมหาวิทยาลัยต่างๆ ขึ้นมานั้น ล้วนมีบทบาทหน้าที่หลักในการดำเนินภารกิจสำคัญ ๔ ประการ คือ การผลิตบัณฑิต การวิจัยและพัฒนา การบริการทางวิชาการ และการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
พระบรมรูปสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม
๑. การผลิตบัณฑิต
การผลิตบัณฑิตถือเป็นภารกิจสำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัย เพราะวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ก็เพื่อจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนได้มีความรู้ในวิชาการและวิชาชีพตามศาสตร์และสาขาวิชาที่จัดขึ้น ให้มีคุณลักษณะ ตามหลักสูตรที่กำหนด กระบวนการการผลิตบัณฑิตมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ คือ มีคณาจารย์ที่มีปริมาณและคุณภาพ ตามมาตรฐานหลักสูตรของคณะ สาขาวิชาต่างๆ ทำหน้าที่หลักในการสอน มีระบบและกลไกการบริหารจัดการหลักสูตร และการเรียนการสอนที่มีการควบคุมคุณภาพตามองค์ประกอบต่างๆ ได้แก่ หลักสูตรการศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ คณาจารย์ และระบบการพัฒนาอาจารย์ สื่อการศึกษาและเทคนิคการสอน ห้องสมุดและแหล่งการเรียนรู้อื่นๆ อุปกรณ์การศึกษา สภาพแวดล้อม ในการเรียนรู้และบริการการศึกษา การวัดผลการศึกษาและสัมฤทธิผลทางการเรียนของผู้เรียน และองค์ประกอบอื่น ที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งกำหนดขึ้น ตามที่เห็นเหมาะสม
การฝึกอบรม การบรรยายให้ความรู้แก่ประชาชนผู้สนใจ เป็นบริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัยี
๒. การวิจัยและพัฒนา
มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งรวมผู้มีความรู้สูงของชาติ มหาวิทยาลัยจึงมีหน้าที่สำคัญ คือ การวิจัยเพื่อการสร้างองค์ความรู้ใหม่ มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งส่งเสริมให้คณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยทำงานวิจัย เพื่อแสวงหาความรู้มาใช้ประโยชน์ ในการเรียนการสอน และการพัฒนางานของมหาวิทยาลัย และยังเป็นที่พึ่งพาทางวิชาการของหน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งส่งผลรวมถึงการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ มหาวิทยาลัยต้องมีระบบและกลไก ที่จะทำให้สามารถดำเนินงาน ผลิตผลงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การมีแผนงานการวิจัย มีการบูรณาการงานวิจัยกับการเรียนการสอน และมีการเผยแพร่สู่การใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง
กิจกรรมออกค่ายอาสาพัฒนาของนิสิตนักศึกษา
๓. การบริการทางวิชาการ
โดยที่มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งรวมสรรพวิชา ทั้งยังมีคณาจารย์และบุคลากรที่ทำหน้าที่สนับสนุนการจัดการเรียนการสอน ที่มีความรู้หลากหลาย มหาวิทยาลัยจึงมีหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การให้บริการวิชาการแก่สังคม ผลผลิตทางวิชาการ อาจมีทั้งวิชาการต่างๆ ที่เปิดสอนตามหลักสูตรอยู่แล้ว หรือการนำความรู้มาจัดกลุ่มเป็นชุดความรู้ เพื่อวัตถุประสงค์อื่นให้เหมาะสม กับผู้รับความรู้ เช่น การให้ความรู้ในรูปแบบการฝึกอบรม การสัมมนา การบรรยาย ล้วนเป็นการให้การศึกษาต่อเนื่องแก่ประชาชน ผู้สนใจ รวมไปถึงการวิจัยเพื่อตอบคำถามต่างๆ ให้แก่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ การจัดบริการทางวิชาการแก่สังคม ยังเป็นประโยชน์ในการพัฒนาทางวิชาการให้แก่บุคลากรอีกทางหนึ่ง และเป็นโอกาสสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างความยอมรับและความมีชื่อเสียงในการช่วยเหลือสังคมมาสู่สถาบันด้วย
การสร้างฝายชะลอน้ำ ของนิสิตนักศึกษา
ที่ออกค่ายอาสาพัฒนา
๔. การทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
ชาติไทยเป็นชาติที่มีประวัติศาสตร์ ประเพณี ศิลปะและวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ที่ประชาชนชาวไทยต้องตระหนัก รู้รัก และร่วมกันเชิดชู ตลอดจนช่วยกันอนุรักษ์ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป มหาวิทยาลัยนอกจากดำเนินภารกิจ ในการผลิตบัณฑิต การวิจัยและการพัฒนา และการบริการวิชาการแก่สังคมแล้ว ยังมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การทะนุบำรุงศิลปะ และวัฒนธรรม ซึ่งการดำเนินภารกิจตามบทบาทนี้ มหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้อยู่ในส่วนหนึ่ง ของการเรียนการสอนตามหลักสูตร หรือการบูรณาการเข้ากับกิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อฟื้นฟู สืบสานพัฒนา สร้างสรรค์ และการส่งเสริม สนับสนุนหัวข้อการวิจัย รวมทั้ง การบริการวิชาการแก่สังคมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ และวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น การเผยแพร่ยกย่องผู้มีผลงานการอนุรักษ์ เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม ผลที่ได้รับจากการเรียนรู้ และซึมทราบศิลปะและวัฒนธรรม ทำให้ชาวไทยเข้าใจรากเหง้า อันเป็นต้นทุนที่สำคัญ ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ของการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ
บรรยากาศการแสดงความยินดีในวันรับพระราชทานปริญญาบัตร
การดำเนินภารกิจตามบทบาทหน้าที่ของทั้ง ๔ ด้านนี้ สถาบันอุดมศึกษาจัดให้มีหน่วยงานของสถาบันปฏิบัติหน้าที่ โดยแบ่งเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ หน่วยงานสายวิชาการ ทำหน้าที่จัดการเรียนการสอน เรียกว่า คณะ เช่น คณะศิลปศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ หน่วยงานสายสนับสนุนวิชาการ เรียกว่า สำนัก สถาบัน ศูนย์ และกอง เช่น สำนักทะเบียนและประมวลผล สำนักหอสมุด สำนักบริการคอมพิวเตอร์ สำนักนวัตกรรมการเรียนการสอน สถาบันวิจัยและพัฒนา สถาบันทรัพยากรมนุษย์ ศูนย์วิทยบริการ กองกิจการนักศึกษา หน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ร่วมกันทำงาน เพื่อให้บรรลุผล
บรรยากาศการแสดงความยินดีในวันรับพระราชทานปริญญาบัตร
เมื่อนักศึกษาได้ศึกษาครบตามหลักสูตรการศึกษาที่มีระยะเวลา ๔-๖ ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละคณะวิชาแล้ว สถาบันอุดมศึกษาที่สังกัดภาครัฐจะจัดให้มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตร โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา หรือทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จฯ แทนพระองค์ ส่วนสถาบันอุดมศึกษาเอกชนบางสถาบันกราบทูลเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ หรือเชิญองคมนตรีหรือผู้ทรงคุณวุฒิสูงยิ่ง เป็นประธานในพิธีประสาทปริญญา ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เรียกว่า "บัณฑิต" ระดับปริญญาโท เรียกว่า "มหาบัณฑิต" และระดับปริญญาเอก เรียกว่า "ดุษฎีบัณฑิต" ในวันรับพระราชทานปริญญาบัตร และวันประสาทปริญญา เป็นวันแห่งความสุขของผู้สำเร็จการศึกษา พร้อมด้วยครอบครัวและญาติมิตร ซึ่งมาร่วมแสดงความยินดี ในโอกาสสำคัญ ที่ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของชีวิต