เล่มที่ 38
มะพร้าวน้ำหอม
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สายพันธุ์มะพร้าวทั่วไป

พันธุ์เศรษฐกิจที่เพาะปลูกในประเทศไทย มีอยู่ ๒ สายพันธุ์ คือ พันธ์ต้นสูง (tall coconut) และพันธุ์ต้นเตี้ย (dwarf coconut)

๑. พันธุ์ต้นสูง (Tall coconut)

            หรือที่รู้จักกันดีว่า "มะพร้าวแกง" เป็นพันธุ์ที่มีต้นสูงใหญ่ อยู่ในกลุ่มพันธุ์มะพร้าวผลใหญ่ ออกผลช้า ลำต้นอวบอ้วนมีสะโพก (bole) โดยมีสะโพกที่โคนต้น อายุยืนถึง ๑๐๐ ปี มีการผสมข้ามพันธุ์ คือ เกสรเพศเมียและเพศผู้บานไม่พร้อมกัน ต้องใช้เกสรต้นอื่นช่วยผสม เป็นเหตุให้ผลไม่ค่อยดก ผลกลมขนาดใหญ่ เปลือกหนา มีหลายสี ปัจจุบันศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร ได้พัฒนาพันธุ์จนได้พันธุ์เนื้อหนา ผลโตและดก เพาะปลูก ๗-๑๐ ปี ก็ให้ผลผลิต พันธุ์ต้นสูงนี้มีการปลูกกันมาก ในภาคใต้ของประเทศไทย


มะพร้าวพันธุ์ต้นสูง

๒. พันธุ์ต้นเตี้ย (Dwarf coconut)

            เป็นสายพันธุ์ในกลุ่มมะพร้าวที่มีลำต้นขนาดเล็กเตี้ยสั้น ผลดกและออกผลเร็ว อายุเพียง ๒ ปีครึ่ง -๓ ปี ก็เริ่มให้ผลผลิต โดยเก็บเกี่ยวได้จนมีอายุถึง ๔๐ ปี เป็นไม้ผลพื้นเมืองของไทยในกลุ่มมะพร้าวหมูสี ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มีหลากสี เช่น สีเขียว สีเหลือง สีส้ม สีแดง ผลมีขนาดเล็กแต่ดก ใน ๑ ทะลาย (ดอกที่ติดผล) มีผล ๑๐-๓๐ ผล และใน ๑ ปี จะออกผล ๑-๑๕ ทะลาย บางชนิดน้ำมะพร้าวมีรสหวาน หอม และมีเนื้ออ่อนนุ่ม หวานมัน โดยเฉพาะพันธุ์ต้นเตี้ยสีเขียวที่ชาวสวนได้พัฒนามาเป็น "มะพร้าวน้ำหอม" ซึ่งเป็นมะพร้าวพันธุ์เศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปี และเกษตรกรชาวสวน นิยมปลูกกันมากที่สุดในพื้นที่ภาคกลาง บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ท่าจีน บางปะกง โดยเพาะปลูกในระบบสวน ในจังหวัดราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจังหวัดใกล้เคียง



มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ต้นเตี้ย