เล่มที่ 38
มะพร้าวน้ำหอม
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การดูแลและบำรุงรักษา

มะพร้าวน้ำหอมที่เริ่มปลูกใหม่ควรเอาใจใส่บำรุงรักษาอย่างใกล้ชิด เพราะมะพร้าวจะเจริญเติบโตได้ดีในระยะแรก ถ้าขาดการเอาใจใส่หรือบำรุงรักษา ต้นจะชะงักการเจริญเติบโต ซึ่งมีผลต่อการสร้างผลผลิต โดยมีข้อควรปฏิบัติ สำหรับการปลูกระบบสวนในที่ลุ่ม ดังนี้

            ๑. ควรปลูกมะพร้าวน้ำหอมที่มีอายุ ๑-๒ ปี ร่วมกับพืชผักชนิดอื่น เช่น ผักกินใบหรือกินผล จะได้ช่วยประหยัดการให้น้ำหรือปุ๋ย

            ๒. มะพร้าวน้ำหอมเมื่อมีอายุ ๒ ปีครึ่ง - ๓ ปี จะเริ่มออกจั่น (ช่อดอก) ในระยะนี้จะมีทางมะพร้าวแห้ง ตลอดจนกาบหุ้มผล และผลอ่อนที่หลุดจากต้น ต้องเก็บทิ้งลงในคลองระบายน้ำด้านข้าง ที่ต้องการถมให้เกิดดินใหม่ เพื่อสลับร่องปลูกในรอบปลูกชุดใหม่ แล้วปิดหัว-ท้ายของร่องคลองระบายน้ำ เพื่อขังน้ำในคลองให้ช่วยสลายซากพืช ชาวสวนเรียกวิธีนี้ว่า ทำร่อง "กั๊บ"

            ๓. ลอกดินเลนและโคลนในคลองระบายน้ำใส่สันร่อง เพื่อความสมบูรณ์ของร่องปลูก และเกลี่ยริมร่องปลูกเพื่อเก็บน้ำฝน เมื่อฝนตก จะได้มีความชุ่มชื้นในร่องอย่างทั่วถึง


การขุดลอกดินโคลนเพื่อถมร่องและระบายน้ำ
            
            ๔. ใส่มูลสุกรหรือปุ๋ยคอกระหว่างต้นและให้ค่อนมาทางร่องถม เมื่อเวลารดน้ำหรือฝนตกจะชะปุ๋ยคอกละลายไปทั่ว และไหลลงร่องถม เป็นการสร้างปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งปัจจุบันนำมาทำเป็นน้ำหมักชีวภาพฉีดพ่นเพื่อเพิ่มคุณค่าฮอร์โมนให้แก่มะพร้าว


การใส่ปุ๋ยคอกระหว่างต้น และให้ค่อนมาทางร่องถม

            ๕. ต้องคอยตรวจและตัดแต่งคอมะพร้าวให้สะอาด จัดหาไม้ค้ำยันทะลายผล เพื่อป้องกันไม่ให้ทะลายหักหลุดออก โดยเฉพาะ ในระยะที่ให้ผลดกมาก ซึ่งตรงกับช่วงปลายฝนต้นหนาว (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน)


การตัดแต่งคอมะพร้าวให้สะอาด

            ๖. ในฤดูร้อนตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเมษายนต้องสูบน้ำหรือปล่อยน้ำเข้าร่องสวน เพื่อให้มีน้ำไหลเวียน เป็นการเพิ่มความชื้น ให้ซึมถึงหลังร่อง

            ๗. ปุ๋ยหมัก ใบ ผลอ่อน ที่ร่วงหล่นทับถม รวมทั้งปุ๋ยที่ใส่จะถูกชะล้างลงร่องถม ก่อให้เกิดดินใหม่ที่ร่วนซุยเพิ่มเติมจนเต็มร่องถม และในปีที่ ๗-๑๐ ก็สามารถปลูกมะพร้าวแซมในร่องที่เกิดใหม่นี้

            ๘. โค่นต้นที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งไป จะทำให้ต้นที่ปลูกใหม่เจริญเติบโตเร็ว เพราะไม่ถูกแย่งน้ำแย่งอาหาร และบดบังแสงสว่าง

การให้ปุ๋ย

            มะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชที่ต้องการปุ๋ยและน้ำมาก ปุ๋ยที่ใช้กับมะพร้าวก็มีปุ๋ยคอกที่ได้จากมูลสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ สุกร ปุ๋ยหมักได้จากการหมักปุ๋ยคอกและใบไม้ผุ ซากสัตว์ ซากพืช เช่น ฟางข้าว ใบจามจุรี หรือกากถั่วต่างๆ ปุ๋ยพืชสด ได้แก่ พืชคลุมดินประเภทถั่วต่างๆ

ปุ๋ยแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมี

            ๑) ปุ๋ยอินทรีย์ คือ ปุ๋ยคอกที่ได้จากมูลสัตว์ตากแห้ง เช่น เป็ด ไก่ สุกร ที่นำมาหมักกับซากพืช ซากสัตว์ และพืชสดต่างๆ ที่ให้ปุ๋ยไนโตรเจน

วิธีใช้ปุ๋ยอินทรีย์

            ใช้รองก้นหลุมปลูกในปีที่ ๑ ใช้ ๑๐ กิโลกรัม ปีที่ ๒ ใช้ ๒๐ กิโลกรัม ปีที่ ๓ ใช้ ๓๐ กิโลกรัมนอกจากนี้แล้วยังใช้วิธีโรยรอบๆ ต้น หรือฝังกลบ หรือใช้ดินเลนที่ลอกจากร่องสวนนำมาถมและคลุมรอบต้น

            ๒) ปุ๋ยเคมี คือ ปุ๋ยสังเคราะห์จากสารเคมีและสารสกัดจากแร่ธาตุต่างๆ มะพร้าวต้องการธาตุอาหารหลักที่สำคัญ ๓ ธาตุ คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เช่นเดียวกับพืชทั่วไป และอาจต้องการธาตุอาหารรอง เช่น แมกนีเซียม แคลเซียม ตามสภาพความสมบูรณ์ของดิน

            ปุ๋ยเคมีที่ใช้ได้ผลและช่วยเพิ่มผลผลิตให้แก่มะพร้าวน้ำหอมได้สูงสุด คือ ปุ๋ยสูตร ๑๓-๑๓-๒๑ และ ๑๒-๑๒-๑๗-๒ (แมกนีเซียมซัลเฟต)

วิธีใช้ปุ๋ยเคมี

            ใช้หว่านห่างจากลำต้นมะพร้าวในรัศมี ๒ เมตร โดยรอบ หลังจากหว่านควรพรวนดินให้ลึกประมาณ ๑๐-๑๕ เซนติเมตร เพื่อให้ปุ๋ยได้คลุกเคล้ากับดิน และป้องกันการชะล้าง แล้วรดน้ำ

อัตราการใช้ ใช้สูตรปุ๋ยผสม ๑๓ : ๑๓ : ๒๑
ปีที่ ๑ ใช้ ๑ กิโลกรัมต่อต้นต่อปี
ปีที่ ๒ ใช้ ๒ กิโลกรัมต่อต้นต่อปี
ปีที่ ๓ ใช้ ๓ กิโลกรัมต่อต้นต่อปี เพิ่มแมกนีเซียมซัลเฟต ๓๐๐ กรัม
ปีที่ ๔ ใช้ ๔ กิโลกรัมต่อต้นต่อปี เพิ่มแมกนีเซียมซัลเฟต ๕๐๐ กรัม

วิธีใช้ปุ๋ยเพื่อปรับสภาพดิน

            ใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราส่วนร้อยละ ๒๕ ต่อปุ๋ยอินทรีย์ร้อยละ ๗๕ คลุกเคล้าให้เข้ากับดิน จะช่วยให้การย่อยสลายและดูดซึมได้เร็ว

ฤดูกาลที่เหมาะสมที่จะให้ปุ๋ย

            ฤดูกาลที่เหมาะสม คือ ช่วงต้นฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม) ในช่วงนี้จะมีความชื้นในอากาศและในดินสูง ซึ่งจะช่วยละลายปุ๋ยได้ดี รากของมะพร้าวกำลังเจริญเติบโตเต็มที่ สามารถดูดซึมปุ๋ยไปใช้ได้ดี และเมื่อถึงช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว (เดือนตุลาคม) มะพร้าวจะได้เจริญเติบโตไปอย่างต่อเนื่อง

การให้น้ำ

            น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญมากสำหรับการปลูกมะพร้าวน้ำหอม เพราะมะพร้าวต้องการความชื้นมาก ในฤดูร้อนต้องรดน้ำให้มากขึ้น อย่าให้ขาดน้ำเกิน ๒ เดือน ช่วงฤดูฝนมะพร้าวต้องการน้ำน้อย ดังนั้น ปริมาณน้ำที่ให้ต้องสัมพันธ์กับความชื้นสัมพัทธ์

การให้น้ำในที่ลุ่มหรือร่องสวน

            ชาวสวนจะใช้เรือรดน้ำพ่นฝอยขึ้นตามร่องปลูกมะพร้าว โดยใช้แบบเรือเข็นและเรือขับ นอกจากนี้อาจใช้ท่อระบายน้ำเข้า-ออก หรือเปิดให้น้ำไหลตามท่อ และมีคันป้องกันน้ำท่วม

การให้น้ำในที่ดอนหรือระบบไร่

ใช้เกณฑ์รดน้ำเช่นเดียวกันกับที่ลุ่ม โดยยึดเกณฑ์ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศและฤดูกาลเช่นเดียวกันกับการรดน้ำในที่ลุ่ม การปลูกมะพร้าวในระบบไร่ ผู้ปลูกอาจติดตั้งระบบน้ำ คือ


การให้น้ำแก่ต้นมะพร้าว โดยใช้เรือรดน้ำพ่นฝอยตามร่องปลูก

๑. ระบบพ่นฝอย (มินิสปริงเกลอร์) เป็นแบบฝนเทียม ซึ่งมีทั้งแบบหมุนรอบ หมุนครึ่งวงกลม และอยู่กับที่ หรือเคลื่อนย้ายไปตามแนวปลูก น้ำที่พ่นฝอย เกิดจากการต่อท่อส่งน้ำจากท่อประธานแยกสู่ท่อย่อย และเข้าสู่หัวพ่นฝอย

๒. ระบบน้ำหยด ใช้หลักการต่อท่อแบบมินิสปริงเกลอร์ โดยมีท่อส่งน้ำแบบท่อประธานแยกสู่ท่อย่อย และเข้าสู่หัวน้ำหยด ที่สามารถปรับได้มากหรือน้อยตามความต้องการ

๓. ระบบการปล่อยน้ำตามร่อง เป็นการขุดร่องน้ำให้ลึก ๒๕ เซนติเมตร ลาดชันไปตามพื้นที่ ขนานไปกับแปลงปลูก แล้วปล่อยน้ำจากที่สูง หรือใช้สูบน้ำจากแหล่งน้ำขึ้นสู่ถังเก็บด้านบน หรือสูบจากแหล่งน้ำในพื้นราบ แล้วปล่อยน้ำไปตามร่อง โดยอาจแยกแขนงไปตามแถวที่ปลูกเพื่อกระจายความชื้นให้ทั่วถึง