ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของมะพร้าวน้ำหอม
ราก (Root)
มะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชที่ไม่มีรากแก้ว แต่มีรากแขนงขนาดเล็กแผ่ออกไปรอบๆ ลำต้นประมาณ ๒-๕ เมตร ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของดิน และหยั่งลึกลงใต้ดิน ๑-๒ เมตร โดยจะผลิตรากอ่อนทดแทนรากแก่ตลอดเวลา รากที่จะช่วยมะพร้าวน้ำหอมให้สมบูรณ์คือ รากบนผิวดินที่อยู่ห่างจากโคนต้น ๑ เมตร ถ้าขาดความชื้น รากจะเหี่ยว ทำให้ต้นเฉาตายได้
ลำต้น
ลำต้น (Trunk)
เป็นต้นเดี่ยวไม่มีการแตกกิ่งก้าน และมีขนาดเท่ากันตลอดทั้งต้น ยกเว้นที่โคนต้น (สะโพก) จะมีขนาดโตกว่าลำต้นเล็กน้อย ลำต้นเป็นลักษณะเตี้ยสั้น มีปล้องของโคนกาบใบถี่ (ต่างจากมะพร้าวพันธุ์ต้นสูงที่มีปล้องห่าง) การเจริญเติบโตของลำต้นทางด้านสูงจะช้า เมื่อแก่ ใบจะร่วงและทิ้งรอยปล้องไว้รอบๆ ต้น เมื่ออายุได้ ๔๐ ปี ลำต้นจะโตเต็มที่ และจะมีความสูงเฉลี่ยประมาณ ๑๒ เมตร
ใบ (Frond)
เป็นแบบใบสั้น ก้านทางใหญ่ แข็งแรง สามารถรับน้ำหนักของทะลายผลได้
ช่อดอก หรือจั่น (Spa dise)
จะแทงออกทุกซอกใบ จั่นที่แทงออกเมื่อติดผลแล้วจะพาดอยู่บนโคนทางที่รับน้ำหนักผล มะพร้าวน้ำหอมจะติดผลดกสม่ำเสมอ เนื่องจากการผสมเกสรเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเป็นการผสมตัวเอง โดยที่เกสรเพศเมียและเกสรเพศผู้จะบานในระยะใกล้กัน ใน ๑ ปี สามารถออกจั่นได้ไม่ต่ำกว่า ๑๒ ครั้ง
ช่อดอก หรือจั่น
ผล
จะดกสม่ำเสมอทั้งทะลาย โดยเฉพาะพันธุ์น้ำหอมสีเขียว การติดผลจะดีมากคือ ใน ๑ ทะลาย สามารถติดผลได้ถึงร้อยละ ๗๐ นอกจากจะมีผลดกแล้ว ยังไม่ค่อยกลายพันธุ์ด้วย
ผลมะพร้าวน้ำหอม