การกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูมะพร้าวน้ำหอม
การกำจัดวัชพืช
วัชพืชซึ่งจะแย่งน้ำแย่งอาหารจากพืชที่ปลูก มีวิธีการกำจัดได้ดังนี้
- ใช้แรงคน เช่น การถางด้วยจอบ มีด และของมีคม
- ใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น รถตัดหญ้า หรือรถไถขนาดเล็ก
- ใช้การปลูกพืชคลุมดิน เช่น พืชตระกูลถั่ว การปลูกควรปลูกให้ห่างจากโคนต้นมะพร้าวประมาณ ๑ เมตร
- ใช้สารเคมี ในการกำจัดวัชพืชประเภทข้ามปี (เกิน ๓ เดือน) จำพวกหญ้าคา หญ้ามีหัว เช่น หญ้าแห้วหมู ให้ใช้สารเคมีพวก "ไกโพเสต" หรือสารเคมีพวก "พาราควอต" ใช้กำจัดวัชพืชประเภทล้มลุก (อายุสั้น) เช่น หญ้าตีนนก วิธีใช้ให้ใช้ตามที่ระบุไว้ในฉลากยา
การกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าว
ศัตรูของมะพร้าวที่ทำความเสียหายให้แก่มะพร้าว ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
๑. ด้วงแรด (Rhinoeros Beetle)
เป็นแมลงปีกแข็ง ตัวใหญ่ มีสีน้ำตาลเข้ม บนหัวมีนอเหมือนแรด ตัวแก่กัดกินยอดอ่อนและใบอ่อนของมะพร้าวให้เป็นรู และเป็นริ้วรอยฉีกขาดหักหรือเป็นรอยขาดวิ่น ทำให้มะพร้าวชะงักการเติบโต และตายในที่สุด
ด้วงแรด
การป้องกันกำจัด ทำได้ ๒ ระยะ คือ ระยะที่เป็นตัวหนอน และระยะที่เป็นตัวเต็มวัย การกำจัดมีหลายวิธี ได้แก่
การดูแลทำความสะอาด รักษาสวนและแปลงปลูกให้สะอาด ป้องกันการวางไข่ โดยไม่กองปุ๋ยหมัก เศษไม้ ตอไม้ผุ ถ้าพบเห็นตัวแมลง ให้ใช้ไม้แหลมหรือเหล็กแหลมแทงหรือดึงตัวออกมาทำลาย รูหรือรอยที่ด้วงแรดทำลายอาจใช้เป็นที่หลบซ่อน หรือที่อาศัยของแมลงชนิดอื่นได้ เช่น ด้วงงวง แมลงดำหนาม
วิธีทางชีววิทยา โดยใช้ขุยมะพร้าวที่หมักแล้วผสมกับหัวเชื้อราสีเขียวเพื่อล่อให้ด้วงแรดมาวางไข่ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวอ่อน จะถูกเชื้อราสีเขียวทำลาย และตายในที่สุด
วิธีทางเคมี โดยใช้ทรายและเกลือโรยตามซอกใบทางมะพร้าวที่บริเวณยอดอ่อน เพื่อสร้างบาดแผลที่ส่วนคอของด้วง ทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้ หรือใช้ทรายผสมขี้เลื่อยที่มีสารคาร์บาริล (เซฟวิน 85% WP) เป็นส่วนผสม ในอัตราส่วน ยา ๑ ส่วน ต่อขี้เลื่อย ๓๐ ส่วน หรือใช้ลูกเหม็น ๖-๘ ลูกใส่ตามซอกใบใกล้ยอดอ่อน กลิ่นของลูกเหม็นจะขับไล่ไม่ให้ด้วงอาศัยอยู่ต่อไป
๒. ด้วงงวง
ตัวคล้ายด้วงแรดแต่ไม่มีนอ ชอบขยายพันธุ์อยู่ภายในคอมะพร้าวและตามโคนลำต้น ทำให้ต้นตาย อาการของต้นมะพร้าวที่แสดงว่า ถูกด้วงงวงทำลาย คือ ยอดอ่อนเหี่ยวแห้ง ใบเหลือง
ด้วงงวง
การป้องกันกำจัด ได้แก่
วิธีทางเคมี ระวังไม่ให้ด้วงงวงเข้าทำลายต้นมะพร้าว ต้องกำจัดโดยการใช้สารคาร์บาริล (เซฟวิน 85% WP) ฉีดด้วงงวง เพราะรอยแผลที่ด้วงแรดทำลายจะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงวางไข่ และเข้าทำลายต้นจนตายได้
การดูแลทำความสะอาด ถ้าพบการเข้าทำลาย ให้ใช้สารฆ่าแมลงพวกคลอร์ไพริฟอส ๔๐% ในอัตราส่วน ๘๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร ทำลายต้นมะพร้าวที่มีหนอนด้วงงวงอาศัยอยู่ เพื่อไม่ให้แพร่พันธุ์ต่อไป
๓. แมลงดำหนาม
เป็นพวกด้วงชนิดหนึ่ง ลำตัวแบนสีดำ พบมากในแหล่งปลูกมะพร้าวในภาคใต้และภาคกลางบางส่วน แมลงชนิดนี้ไม่ชอบแสงแดด ชอบหลบซ่อนตัวอยู่ตามกาบใบมะพร้าวที่ยังไม่คลี่ หรือใบอ่อน อาศัยอยู่ตั้งแต่วางไข่จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย จะกัดกินผิวใบด้านในเกิดเป็นรอยสีน้ำตาล ซึ่งใบจะไม่ขาดเป็นรู แต่จะแห้งและเหี่ยว หากระบาดมากจะกัดกินทุกใบ ทำให้ต้นเหี่ยวและทุกใบมีสีขาว ยืนต้นตาย ทางภาคใต้เรียกว่า โรคหัวหงอก
แมลงตำหนาม
การป้องกันกำจัด ได้แก่
วิธีทางชีววิทยา โดยใช้แตนเบียน ซึ่งเป็นแมลงปากดูดพวกแตนควบคุม แตนเบียนเพศเมียจะทำลายหนอนของแมลงดำหนาม ให้หมดไป
วิธีทางเคมี ใช้สารเคมีที่มีอันตรายน้อยและสลายตัวเร็ว เช่น คาร์บาริล (เซฟวิน 85% WP) ผสมลงในน้ำ ในอัตราส่วน ๓๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร แล้วพ่นลงในแปลงเพาะชำหรือแปลงปลูก