การเก็บเกี่ยวผลผลิต
การเก็บเกี่ยวมะพร้าวน้ำหอมระยะผลอ่อน จะเก็บในระยะที่ผลอ่อนมีเนื้อเต็ม และน้ำมีรสหวานหอม ซึ่งจะต้องใช้เวลา ๖ เดือน ๒ สัปดาห์ นับจากจั่นหรือดอกบานแล้ว มะพร้าวน้ำหอมทั่วไปจะตกจั่นได้ถึง ๑๕-๑๖ จั่นต่อปี จั่นที่ตกผลจะมีจำนวนผลมากกว่า ๒๐ ผล ด้วยเหตุที่มะพร้าวน้ำหอมเป็นพันธุ์ผสมตัวเอง การกลายพันธุ์จึงมีน้อยมาก ในการเก็บเกี่ยว ชาวสวนมีวิธีแบ่งความอ่อน-แก่ ของมะพร้าวเป็น ๓ ประเภท โดยดูจากความหนาของเนื้อมะพร้าวเป็นเกณฑ์ ดังนี้
มะพร้าวเนื้อชั้นเดียว
๑. เนื้อมะพร้าวชั้นเดียว
คือ มะพร้าวที่เริ่มสร้างเนื้อภายในกะลา เนื้อมีลักษณะเป็นวุ้นบางๆ ประมาณครึ่งผล จะมีอายุ ๑๗๐ วัน (๕ เดือน ๒ สัปดาห์) น้ำยังไม่หวาน จึงไม่เหมาะนำไปบริโภค
๒. เนื้อมะพร้าวชั้นครึ่ง
คือ มะพร้าวที่เริ่มสร้างเนื้อมากขึ้นจนเกิดเต็มกะลา แต่บริเวณส่วนขั้วผล ยังมีลักษณะเป็นวุ้นอยู่บ้าง จะมีอายุหลังจั่นบาน ๑๘๐-๑๘๕ วัน (๖ เดือน) น้ำเริ่มหวานมากขึ้น
มะพร้าวเนื้อชั้นครึ่ง
๓. เนื้อมะพร้าว ๒ ชั้น
คือ มะพร้าวที่สร้างเนื้อเต็มกะลา เนื้อหนาอ่อนนุ่มพอดี สามารถนำไปบริโภคได้ทั้งผล น้ำหวานหอม จะมีอายุหลังจั่นบาน ๒๐๐-๒๑๐ วัน (๖ เดือน ๒ สัปดาห์) ชาวสวนจะเก็บเกี่ยวมะพร้าวในระยะนี้
มะพร้าวเนื้อ ๒ ชั้น
การเก็บเกี่ยวโดยนับเวลาจากการออกจั่น
มะพร้าวที่สมบูรณ์จะออกจั่นสม่ำเสมอตลอดปี และมีการแทงจั่นโดยเฉลี่ยทุก ๓ สัปดาห์ ดังนั้น ชาวสวนจึงต้องเก็บเกี่ยวมะพร้าว ทุกๆ ๓ สัปดาห์ (๒๐ วันต่อครั้ง หรือ ๒ เดือน ตัด ๓ ครั้ง) มะพร้าวสามารถออกจั่นได้เกือบ ๑๕ จั่นต่อต้นต่อปี ถ้ามีการบำรุงรักษาอย่างสมบูรณ์
มะพร้าวน้ำหอมที่คัดแยกไว้ เพื่อขยายพันธุ์
ลักษณะความอ่อนและแก่ของมะพร้าวน้ำหอม
สามารถสังเกตได้จากสิ่งต่อไปนี้
๑. สีของผล
โดยเฉพาะรอยต่อของขั้วกับตัวผลของผลมะพร้าวอ่อน จะมีสีขาว เป็นวงรอบขั้วผล ถ้าขาวเป็นวงกว้างแสดงว่ายังอ่อนอยู่ จนเมื่อวงรอบสีขาวเหลือเพียงเล็กน้อย แสดงว่า ได้ระยะเก็บเกี่ยวพอดี
สีขั้วผลอ่อน
๒. หางหนู
คือ ส่วนของระแง้ เป็นส่วนย่อยที่แยกจากทะลาย โดยพัฒนามาจากช่อดอก มีหน้าที่ยึดขั้วผลให้ติดกับทะลาย หางหนูจะมีสีเขียวในระยะที่ยังอ่อน เมื่อผลแก่ จึงเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำ และมีความเหนียว ถ้ามีสีดำครึ่งหนึ่งของหางหนู เนื้อของมะพร้าวน้ำหอมจะอยู่ในระยะที่พอดี อ่อนนุ่ม มีน้ำหวานหอม
หางหนู
๓. สีของเปลือก
มะพร้าวอ่อนที่เก็บเกี่ยวในระยะพอดีจะมีผลสีเขียวเข้ม ไม่มีสีน้ำตาลอ่อน หรือที่ชาวสวนเรียกกันว่า สีปูนแห้ง หรือสีมันปู ซึ่งแสดงว่าผลแก่และน้ำมีรสเปรี้ยว ไม่เหมาะที่จะนำมารับประทานเป็นมะพร้าวอ่อน แต่ใช้เนื้อแข็งแปรรูปเป็นอาหารคาวหวาน หรือสกัดเป็นน้ำมันมะพร้าว
สีขั้วผลแก่
๔. จั่น หรือ ทะลาย
หรือดอกที่ติดบนผลแล้ว อยู่เหนือทะลายที่เก็บเกี่ยวไปแล้ว เนื่องจากมะพร้าวจะออกผล โดยมีการแทงจั่นเป็นชั้นๆ ขึ้นสู่ยอด ดังนั้น ถ้าชั้นล่างมีการเก็บมะพร้าวอ่อนในระยะพอดีไปแล้ว อีก ๒๐ วัน สามารถตัดจากชั้นที่อยู่ด้านบนฝั่งตรงข้าม ก็จะได้มะพร้าวน้ำหอม ที่มีทั้งเนื้อและน้ำพอดี
การตัดหรือการเก็บเกี่ยวทะลายผล
การเก็บเกี่ยวมะพร้าวน้ำหอมจะแตกต่างจากการเก็บเกี่ยวมะพร้าวแก่ต้นสูง ซึ่งต้องใช้แรงคนและลิงปลิดทีละผล แต่มะพร้าวน้ำหอมจะตัดลงทีเดียวทั้งทะลาย ไม่ตัดแยกทีละผล มะพร้าวน้ำหอมแม้ว่าเนื้อจะเต็ม แต่กะลาก็ยังอ่อน ไม่แข็งแรงเท่ากะลามะพร้าวแก่ การปล่อยให้หล่นลงพื้นอาจทำให้ผลช้ำ หรือแตกเสียหายได้ ถ้าต้นเตี้ยอายุ ๓-๑๐ ปี ชาวสวนจะใช้วิธีเดินตัด เพราะต้นไม่สูง สามารถรับทะลายลงสู่พื้นอย่างแผ่วเบา ทำให้ผลไม่ช้ำ เปลือกไม่เป็นริ้วรอย และคงสภาพความสวยงาม ถ้าต้นอายุเกิน ๑๐ ปี จะสูงเลยศีรษะผู้ตัดจนตัดไม่ถึง จึงต้องใช้มีดขอติดไม้เกี่ยวตัดทะลาย แล้วใช้ไม้ที่มีง่ามเป็นเหล็กงอค้ำยันทะลายผลให้รูดลงร่องน้ำหรือร่องสวน หรือค่อยๆ ผ่อนลงตามลำต้น เป็นการลดความเสียหาย จากการแตก ช้ำ สามารถขนส่งได้ทั้งทะลาย สะดวกต่อการขนส่ง
การปลิดผลมะพร้าว