การพัฒนาและการอนุรักษ์สายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม
หน่วยงานราชการและกลุ่มเกษตรกรมีการพัฒนาและการอนุรักษ์สายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม ดังนี้
ก. หน่วยงานราชการ
คือ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร โดยนายจุลพันธ์ เพชรพิรุณ นักวิชาการชำนาญการ ได้เป็นผู้ปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม โดยเน้นที่คุณภาพความหอมและความหวานของผลมะพร้าวอ่อน จนได้ต้นแม่พันธุ์ที่มีลักษณะดีเด่น มีความหอมและความหวานของน้ำมะพร้าวระหว่าง ๗.๖-๙.๐ องศาบริกซ์ (มาตรวัดความหวาน) และได้นำต้นพันธุ์แม่เหล่านี้มาขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร
มะพร้าวน้ำหอมในศูนย์วิจัยพืชสวนสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ข. กลุ่มเกษตรกร
มีการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์มะพร้าวน้ำหอมในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งได้ปลูกกันแพร่หลายทั้งจังหวัด โดยเฉพาะที่อำเภอบ้านแพ้ว และอำเภอกระทุ่มแบน โดยรักษาพันธุ์ต้นแบบ คือ พันธุ์ก้นจีบสีเขียว เกษตรกรที่นำมาเผยแพร่และเพาะปลูกอยู่ที่ฟาร์มอ่างทอง อำเภอกระทุ่มแบน ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ ปัจจุบันพันธุ์นี้ได้กระจายปลูกไปทั่วจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียง โดยมีพื้นที่ปลูก ประมาณ ๑๙,๐๓๐ ไร่
มะพร้าวน้ำหอมลูกผสมกะทิ
นอกจากนี้ยังมีการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์มะพร้าวในพื้นที่ต่างๆ คือ
ในจังหวัดราชบุรี โดยเกษตรกรในอำเภอวัดเพลง อำเภอดำเนินสะดวก อำเภอเมืองฯ และอำเภอปากท่อ นิยมปลูกมะพร้าวพันธุ์น้ำหอมผลโตก้นจีบ กึ่งยาวและกึ่งกลม ซึ่งยังคงมีความหอมและความหวานที่เป็นคุณสมบัติที่ดี ของมะพร้าวน้ำหอม พันธุ์นี้มีลำต้นใหญ่เตี้ยสั้น มีสะโพกเล็กน้อย รากแผ่ออกกว้างป้องกันต้นโค่น และปรับตัวทนต่อความร้อน และอากาศค่อนข้างแห้งแล้งของภาคตะวันตกที่มีพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ปัจจุบัน เกษตรกรนิยมปลูกกันแพร่หลาย ในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง มีพื้นที่ปลูกรวม ๒๘,๓๔๔ ไร่ พัฒนาพันธุ์โดยเกษตรกรหมู่ที่ ๑ ตำบลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีนายประสงค์ ทองยงค์ เกษตรกรผู้ทำสวนมะพร้าวน้ำหอม ตำบลวัดเพลง และตำบลเกาะศาลพระ เป็นผู้บุกเบิกพัฒนาพันธุ์มะพร้าวในกลุ่มต้นเตี้ย และตั้งชื่อสายพันธุ์ คือ รบ.๑ เป็นมะพร้าวน้ำหอมผลโตพันธุ์ต้นเตี้ย รบ.๒ เป็นมะพร้าวกลางผลโตพันธุ์ต้นเตี้ย และ รบ.๓ เป็นมะพร้าวพวงร้อยผสมน้ำหอม นอกจากนี้ ยังเป็นผู้อนุรักษ์พันธุ์มะพร้าวโบราณ ผลโตอายุ ๑๕๐ ปี ในพื้นที่ปลูก ๑๐๐ ไร่ ด้วยการใช้ระบบอินทรีย์
มะพร้าวน้ำหอมผลโตก้นจีบที่ปลูกในจังหวัดราชบุรี
ในจังหวัดนครปฐม ที่อำเภอเมืองฯ อำเภอนครชัยศรี และอำเภอสามพราน นิยมปลูกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบสายพันธุ์อ่างทอง และพันธุ์ลูกกลม ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมรวมทั้งสิ้น ๑๑,๑๖๓ ไร่
มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์นครปฐม