ส่วนต่างๆ ของมะพร้าวน้ำหอมที่นำมาใช้ประโยชน์
ราก
เป็นระบบรากฝอย ทั้งรากอ่อนและรากแก่ใช้ต้มเป็นยารักษาโรคของแพทย์เฉพาะทาง
ทางมะพร้าว (แกนใบ)
ใช้เป็นเชื้อเพลิง
ใบและก้านใบ
ทั้งใบแก่และใบอ่อนทำเป็นภาชนะใส่ขนม (ใช้ห่อหรือมัดอาหารที่ปรุง) ทำไม้กวาด และใช้มุงหลังคาโรงเรือน
ช่อดอก หรือจั่น
มีน้ำหวานใช้ทำน้ำตาลสดหรือนำไปเคี่ยวทำน้ำตาลปึก (น้ำตาลมะพร้าวที่เคี่ยวจนแห้งแล้วปล่อยให้แข็งเป็นผลึก) ส่วนน้ำตาลสด ใช้ดื่มเป็นเครื่องดื่ม หรือนำไปหมักดองทำเป็นน้ำส้ม
ช่อดอกหรือจั่นให้น้ำตาลและผล
ผล
ผลอ่อน น้ำมีรสหวานหอม ใช้ดื่มเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง ชะลอความชรา ในสตรีมีครรภ์ หากดื่มทุกวัน จะช่วยให้ทารกมีผิวพรรณดี และมีสุขภาพแข็งแรง นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงในสตรีวัยทอง และชะลอความชราในชายสูงอายุ
ผล
เปลือก
เปลือกแก่ หรือกาบมะพร้าว นำเส้นใยไปถักทอสำหรับใช้รองรับภาชนะกันแรงกดทับ ส่วนขุย (ผงที่แยกจากเส้นใย) ใช้ทำปุ๋ย และเป็นส่วนผสมสำหรับเพาะพันธุ์พืช
ยอดมะพร้าว (Coconut cabbage)
คือ ส่วนยอดอ่อนของมะพร้าว
มะพร้าว ๑ ต้น มียอดอ่อนเพียง ๑ ยอด ใช้ระยะเวลาเพาะปลูกถึงตัดได้ประมาณ ๑๓ เดือนขึ้นไป หรือเมื่อต้นเจริญเติบโต มีสะโพก ที่โคนต้น เมื่อตัดยอดแล้ว นำมาลอกกาบใบแข็งออก จนเหลือแต่กาบในที่เกาะกันแน่นเป็นยอดสีขาว ถ้าลอกทิ้งไว้นาน จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลคล้ำ สำหรับการเก็บรักษาให้ใช้กรดมะนาวหรือน้ำมะนาวแช่รักษา และเก็บในอุณหภูมิ ๒๐ องศาเซลเซียส จะรักษาความสดได้ ๗ วัน
ยอดมะพร้าว
ภาคใต้เรียกยอดมะพร้าวว่า หัวมะพร้าว มีลักษณะกรอบมัน รสหวานอ่อนๆ นิยมนำมาประกอบอาหารประเภทต้ม ยำ แกง ผัด ใช้แทนผัก มีราคาสูง เป็นที่ต้องการ ของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
การเลือกซื้อยอดมะพร้าวมาประกอบอาหาร ควรเลือกยอดที่ตัดมาใหม่ๆ ไม่มีบาดแผล ช้ำ เหี่ยว และปราศจากสารฟอกขาว (สารกลุ่มซัลไฟต์ เช่น โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ โพแทสเซียมซัลไฟต์) ซึ่งจะพบมากในยอดมะพร้าวที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้ว สารพวกนี้ อาจเป็นพิษต่อร่างกาย ทำให้แพ้ ผื่นคัน ท้องเสีย
ยอดมะพร้าวให้คุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ผลการวิจัยของกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ยอดมะพร้าว ๑๐๐ กรัม ประกอบด้วยสารอาหารที่สำคัญดังนี้
พลังงาน | ๔.๒ | กิโลแคลอรี |
โปรตีน | ๑.๘ | กรัม |
ไขมัน | ๐.๔ | กรัม |
คาร์โบไฮเดรต | ๗.๗ | กรัม |
แคลเซียม | ๖๐ | กรัม |
ฟอสฟอรัส | ๕๔ | มิลลิกรัม |
เหล็ก | ๐.๓ | มิลลิกรัม |
บีตาแคโรทีน | ๘ | ไมโครกรัม |
วิตามินเอ | ๑ | ไมโครกรัม |
วิตามินบี | ๒๐.๑๐ | มิลลิกรัม |
ไนอะซิน | ๒.๘ | มิลลิกรัม |
วิตามินซี | ๕ | มิลลิกรัม |
ปัจจุบันมะพร้าวน้ำหอมนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เนื่องจากน้ำมะพร้าวเป็นที่ชื่นชอบของชาวไทยหรือนักท่องเที่ยว ชาวต่างประเทศ ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ ซึ่งนิยมดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนที่เป็นผลสดหรือนำไปแปรรูปแล้ว