เล่มที่ 38
มะพร้าวน้ำหอม
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การแปรรูปและแหล่งจำหน่ายมะพร้าวน้ำหอม

            การแปรรูปมะพร้าวน้ำหอม คือ การนำมะพร้าวน้ำหอมผลอ่อนมาปอกเปลือกนอกและเปลือกในให้เหลือแต่กะลา ซึ่งภายในกะลา ยังมีเนื้อและน้ำ เพื่อลดน้ำหนักในการขนส่ง และสะดวกในการบรรจุหีบห่อ การแปรรูปแยกออกตามความต้องการของตลาด ดังนี้

ก. ตลาดท้องถิ่น และตลาดในประเทศ

ต้องการมะพร้าวน้ำหอมที่แปรรูปเป็นมะพร้าวเผา มะพร้าวต้ม และมะพร้าวถุง


มะพร้าวเผาปอกเปลือกแล้ว

๑. มะพร้าวเผา

            การเผาเป็นการเพิ่มความหอม และทำให้เนื้อมะพร้าวน้ำหอมอ่อนนุ่ม โดยการนำมะพร้าวน้ำหอมที่มีเนื้อเต็มกะลามาย่าง หรือวางเหนือไฟที่ก่อด้วยฟืน หรือถ่านกะลามะพร้าว ย่างจนเปลือกนอกสุกทุกลูก ทิ้งไว้ค้างคืนให้เย็น รุ่งเช้า จึงนำมาปอกเปลือก เหลือเฉพาะผลที่ห่อหุ้มด้วยกะลา เพื่อรอการจำหน่าย มะพร้าวเผาชนิดนี้จะมีรสหวานหอมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปริมาณของน้ำในผล ได้รับความร้อน จนมีความเข้มข้นของความหวานมากขึ้น

๒. มะพร้าวต้ม

            นำมะพร้าวน้ำหอมผลสดที่เนื้อเต็มกะลา (๖ เดือน ๒ สัปดาห์) มาปอกเปลือกเหลือแต่กะลา และนำไปขัดให้ผิวเรียบสวยคล้ายหยดน้ำ แล้วนำลงต้มในน้ำเดือด โดยค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิในน้ำเดือด เพื่อช่วยไม่ให้ผลแตก จากนั้นนำขึ้นมาและผึ่งให้แห้ง แล้วเผาตรงหัวจุก เพื่อเพิ่มความหอม และป้องกันเชื้อรา


มะพร้าวต้มที่เจียเหลือแต่กะลา

๓. มะพร้าวถุง

            นำมะพร้าวน้ำหอมมาปอกหรือตัดก้นให้ถึงกะลา ผ่าและแยกน้ำออกจากภาชนะ ใช้ช้อนตักเนื้อผสมน้ำ ใส่ถุงสะอาด แล้วผนึกปากถุง นำไปแช่เย็นหรือแช่แข็ง


มะพร้าวบรรจุถุง

ข. ตลาดต่างประเทศ

            การส่งมะพร้าวน้ำหอมออกจำหน่ายในตลาดต่างประเทศจะส่งในรูปของมะพร้าวควั่น และมะพร้าวเจีย

๑. มะพร้าวควั่น (Trimmed coconut)

            นำมะพร้าวน้ำหอมมาปอกเปลือกนอกและเปลือกใน เพื่อให้ได้ทรงเพชร (diamond) ที่สวยงาม แล้วเก็บรักษาในอุณหภูมิ ๒-๔ องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้ ๖๐ วัน


มะพร้าวควั่น

๒. มะพร้าวเจีย (Polish coconut)

            นำมะพร้าวน้ำหอมมาปอกเปลือกนอกและเปลือกในจนเหลือแต่กะลา และนำไปขัด ให้ได้ผิวเรียบคล้ายหยดน้ำ  เก็บในอุณหภูมิ ๒-๔ องศาเซลเซียส  สามารถเก็บไว้ได้ ๓๐ วัน


มะพร้าวเจีย

แหล่งจำหน่ายมะพร้าวน้ำหอม

แหล่งจำหน่ายมะพร้าวน้ำหอมมีดังนี้

๑. ตลาดในประเทศ

            มีการซื้อ-ขายกันในลักษณะผลสด ทั้งทะลายหรือแยกผล และการแปรรูปผลอ่อนในรูปมะพร้าวเผา มะพร้าวต้ม และมะพร้าวถุง แหล่งจำหน่ายและรับซื้อมีในตลาดท้องถิ่น ทั้งตลาดระดับอำเภอและตลาดระดับจังหวัด


การคัดแยกก่อนนำส่งตลาด

๒. ตลาดต่างประเทศ

มีการซื้อ-ขายกันในลักษณะผลสดแปรรูป ในรูปของมะพร้าวควั่นและมะพร้าวเจีย โดยบรรจุหีบห่อที่มีการปรับความเย็น

ประเทศไทยส่งออกผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมไปยังประเทศต่างๆ ตามปริมาณการส่งออกจากมากไปหาน้อย ดังนี้

๑. ประเทศจีน
๒. สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
๓. ประเทศสิงคโปร์
๔. ประเทศญี่ปุ่น
๕. สหรัฐอเมริกา
๖. ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป


มะพร้าวน้ำหอมในบรรจุภัณฑ์ เพื่อส่งจำหน่ายตลาดต่างประเทศ