วัดช้างล้อม เป็นโบราณสถานสำคัญภายในเขตกำแพงเมือง ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
๒. ความสำคัญทางประวัติศาสตร์
เนื่องจากสภาพภูมิประเทศอันเป็นที่ตั้งของเมืองศรีสัชนาลัย มีความเหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐาน คือ มีทั้งที่ราบลุ่มริมแม่น้ำยม และที่ราบเชิงเขาพระศรี และเขาใหญ่ ทำให้มีทั้งความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ และลักษณะทางธรรมชาติ ที่ใช้ในการป้องกันข้าศึกศัตรูได้อย่างดีด้วย
จากหลักฐานพวกขวานหินขัด (เครื่องมือเครื่องใช้ของคนสมัยโบราณ) ที่สำรวจพบ ที่ตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย รวมทั้งจากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดชมชื่น แสดงว่า มีชุมชนอยู่อาศัยในบริเวณนั้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๙ เป็นต้นมา และเป็นชุมชนร่วมสมัยทวารวดีกับในภาคกลาง ต่อจากนั้นก็เป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ ๑๘) ซึ่งเห็นได้จากพระปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง ในระยะนั้นเมืองศรีสัชนาลัยมีชื่อว่า เมืองเชลียง ตามหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึก ตำนาน และพงศาวดารยืนยันว่า มีเมืองโบราณ ๒ เมืองตั้งอยู่ในลุ่มน้ำยมก่อนแล้ว คือ เมืองสุโขทัย และเมืองเชลียง ต่อมาภายหลัง จึงได้มีการก่อสร้างเมืองศรีสัชนาลัยขึ้น ทางด้านทิศเหนือของเมืองเชลียง โดยอยู่ห่างออกไปประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร เมืองศรีสัชนาลัยจึงมีความสำคัญควบคู่กันกับเมืองสุโขทัย โดยจากหลักฐานได้กล่าวถึงพ่อขุนศรีนาวนำถมว่า เป็นกษัตริย์ที่ครอง ๒ นคร คือ ทั้งเมืองสุโขทัย และเมืองศรีสัชนาลัย (ก่อน พ.ศ. ๑๗๘๑)
ในเวลาต่อมา เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรสุโขทัย (พ.ศ. ๑๗๘๑ - ปีใดไม่ปรากฏ) จึงได้โปรดให้พ่อขุนบาลเมืองไปครองเมืองศรีสัชนาลัย ส่วนพ่อขุนรามคำแหงและพระยาลิไทก็เคยครองเมืองศรีสัชนาลัย ก่อนขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรสุโขทัย ต่อมาเมื่อสุโขทัย ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยา เมืองศรีสัชนาลัยได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสวรรคโลก
เมืองศรีสัชนาลัยหรือเมืองสวรรคโลก ในสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นเมืองสำคัญที่ผลิตภาชนะเครื่องเคลือบสังคโลกให้แก่กรุง ศรีอยุธยา ในสมัยต่อมา เมื่อมีการจัดระบบการปกครอง เรื่องเชื้อสายราชวงศ์ ให้เข้าอยู่ในระบบราชการเรียบร้อยแล้ว กรุงศรีอยุธยาได้เป็นผู้แต่งตั้งเจ้าเมือง มาปกครองเมืองสวรรคโลก ซึ่งมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นนอกระดับเมืองโท หลังเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ เมืองศรีสัชนาลัย หรือเมืองสวรรคโลกถูกทิ้งร้าง ต่อมาได้จัดตั้งเมืองสวรรคโลกขึ้นใหม่ที่บ้านท่าชัย อยู่ด้านทิศใต้ของเมืองเดิม และในสมัยรัตนโกสินทร์ได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านวังไม้ขอน คือ ที่ตั้งของอำเภอสวรรคโลกในปัจจุบัน ส่วนชื่อเมืองศรีสัชนาลัยได้นำไปตั้งเป็นชื่อของอำเภอ คือ อำเภอศรีสัชนาลัย ซึ่งได้รวมเอาเขตพื้นที่เมืองศรีสัชนาลัยโบราณไว้ด้วย
๓. โบราณสถานสำคัญ
เมืองโบราณศรีสัชนาลัยมีขอบเขตของผังเมือง ที่ก่อสร้างทับซ้อนอยู่บนบริเวณเมืองเชลียงเดิม กล่าวคือ แนวกำแพงเมืองเชลียงเดิม ทำเป็นคันดินยาวขนานไปตามลำน้ำยม เริ่มจากบริเวณวัดมหาธาตุเชลียง ไปตามลำน้ำยม เลยผ่านเขาพนมเพลิงออกไป ยังคงปรากฏหลักฐานคันดินให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ
ต่อมา เมื่อได้มีการก่อสร้างเมืองศรีสัชนาลัยขึ้น จึงได้พิจารณาเลือกบริเวณที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขา มีการก่อสร้างกำแพงเมืองด้วยศิลาแลง ลักษณะผังเมืองเป็นรูปหลายเหลี่ยมไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของลำน้ำยม ในช่วงนี้ลักษณะของกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยมีหลายแนว เพราะคงมีการผสมผสานนำเอาแนวกำแพงคันดิน ในสมัยที่เป็นเมืองเชลียง เข้ามาใช้ประโยชน์ด้วย
โบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยมีทั้งภายในและภายนอก กำแพงเมือง รวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า ๑๓๑ แห่ง ประกอบด้วย
๑) โบราณสถานภายในกำแพงเมือง
สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น ๒๘ แห่ง ที่สำคัญคือ วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถววัดนางพญา วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ วัดสวนแก้วอุทยานน้อย
๒) โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ
สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น ๓๕ แห่ง ที่สำคัญคือ วัดกุฎีราย เตาทุเรียงบ้านป่ายาง และเตาทุเรียงบ้านเกาะน้อย ซึ่งเป็นแหล่ง ผลิตภาชนะดินเผา “เครื่อง สังคโลก” ที่สำคัญของเมืองศรีสัชนาลัย
๓) โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก
สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น ๑๐ แห่ง ที่สำคัญคือ วัดสวนสัก วัดป่าแก้ว
๔) โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้
สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น ๒๔ แห่ง ที่สำคัญคือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดชมชื่น วัดเจ้าจันทร์ วัดโคกสิงคาราม
๕) โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก
สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น ๑๙ แห่ง ที่สำคัญคือ วัดพญาดำ วัดราหู วัดสระปทุม วัดพรหมสี่หน้า วัดยายตา
๖) โบราณสถานนอกกำแพงเมืองบนภูเขา
สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น ๑๕ แห่ง ที่สำคัญคือ วัดเขาใหญ่บน วัดเจดีย์เจ็ดยอด วัดเจดีย์เอน วัดเขาใหญ่ล่าง
กรมศิลปากรได้เริ่มโครงการจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ และดำเนินการฟื้นฟูบูรณะจนแล้วเสร็จ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ ศรีสัชนาลัย เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๓