อุทยาน ประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
๑. ที่ตั้ง
อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองฯ จังหวัดกำแพงเพชร ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง แบ่งออก เป็น ๒ เขต คือเขตภายในกำแพงเมืองมีพื้นที่ ๕๐๓ ไร่ และเขตนอกกำแพงเมืองหรือที่เรียกกันว่า เขตอรัญญิกตั้งอยู่บนเขาลูกรังขนาดย่อม มีพื้นที่ ๑,๖๑๑ ไร่ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศ เหนือ ๓๕๘กิโลเมตร
กรมศิลปากรได้กำหนดเขตพื้นที่โบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ กำแพงเพชรไว้ ๒,๑๑๔ ไร่ หรือประมาณ ๓.๔ ตารางกิโลเมตร
๒. ความสำคัญทางประวัติศาสตร์
บริเวณที่ตั้งของจังหวัดกำแพงเพชรในปัจจุบัน ได้ค้นพบหลักฐานเมืองโบราณหลายเมือง คือ เมืองแปบ เมืองเทพนคร เมืองไตรตรึงษ์ เมืองพาน เมืองนครชุม และเมืองชากังราว ความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำปิง ได้ก่อให้เกิดการตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน โดยแต่ละเมืองอยู่ไม่ห่างกันมากนัก เมืองที่ตั้งขึ้นในตอนแรก น่าจะเป็นเมืองแปบ ซึ่งมีตำนานเล่าว่า เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ฝั่งเดียวกันกับเมืองนครชุม บริเวณตรงกันข้ามกับเมืองกำแพงเพชรในปัจจุบัน
วัดช้างรอบ ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร อ.เมืองฯ จ.กำแพงเพชร
จากหลักฐานจารึกหลักที่ ๓ (ศิลาจารึกนครชุม) พ.ศ. ๑๙๐๐ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) เสด็จไปนมัสการพระบรมธาตุ เมืองนครชุม ว่า “หาก เอาพระศรีรัตนมหาธาตุอันนี้มาสถาปนาในเมืองนครชุม” เมืองนครชุมจึงน่าจะเป็นเมืองใหญ่ และมีความสำคัญในสมัยสุโขทัย แต่มาหมดอำนาจ และเป็นเมืองขนาดเล็ก ในสมัยอยุธยา ส่วนเมืองชากังราวยังคงมีอำนาจอยู่ในฝั่งตะวันออก และเรียกชื่อเมืองว่า เมืองกำแพงเพชร ในสมัยอยุธยา ภายหลังจากพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) สวรรคต (ประมาณ พ.ศ. ๑๙๑๑ - ๑๙๑๖) เมืองต่างๆ ในอาณาจักรสุโขทัยได้แตกแยกกัน บางเมืองหันมาเป็นพันธมิตรกับกรุงศรีอยุธยา ชื่อเมืองกำแพงเพชร ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๓๘ หรือจารึกกฎหมายลักษณะโจร กล่าวพระนามจักรพรรดิราชได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ ที่เมืองกำแพงเพชรเมื่อ พ.ศ. ๑๙๔๐ เชื่อกันว่า กษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาทรงต้องการให้ศูนย์กลางของอำนาจ ย้ายจากเมืองนครชุมเดิมมาอยู่ที่เมืองชากังราว หรือเมืองกำแพงเพชรนั่นเอง ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ เมืองกำแพงเพชรได้ถูกลดบทบาทลง และคงจะทิ้งร้างไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง
๓. โบราณสถานสำคัญ
เมืองกำแพงเพชรมีลักษณะผังเมืองเป็นรูปคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู วางแนวยาวขนานไปกับลำน้ำปิง จากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทิศตะวันออกเฉียงใต้
กำแพงของเมืองกำแพงเพชรเดิมคงจะมีลักษณะเป็นคันดินและคูเมือง ๓ ชั้น ต่อมาได้พัฒนาเป็นกำแพงศิลาแลง มีการสร้าง เชิงเทิน ใบเสมา และป้อมประตูรอบ ส่วนที่เป็นกำแพงด้านใน ยังคงปรากฏร่องรอยให้เห็นอยู่ข้างบริเวณด้านทิศเหนือ เชื่อกันว่า กำแพงศิลาแลงนี้คงมาดำเนินการก่อสร้าง ในช่วงสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑ - ๒๐๓๑)
วัดพระสี่อิริยาบถ
ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
๑) โบราณสถานภายในกำแพงเมือง
สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น ๒ แห่ง ที่สำคัญคือ วัดพระแก้ว วัดพระธาตุ วังโบราณหรือสระมน ศาลพระอิศวร และวัดกลางนคร
๒) โบราณสถานภายนอกกำแพงเมือง
โดยทั่วไปเรียกกันว่า “เขต อรัญญิก” ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ บนเขาลูกรังขนาดย่อม สำรวจพบโบราณสถานแล้ว ๓๗ แห่ง ที่สำคัญคือ วัดพระนอน วัดพระสี่อิริยาบถ วัดช้างรอบ วัดอาวาสใหญ่ วัดฆ้องชัย วัดอาวาสน้อย วัดเชิงหวาย วัดดงหวาย วัดช้าง วัดกะโลทัย
ส่วนโบราณสถานที่ตั้งอยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำปิง มีทั้งภายในและภายนอกเมืองนครชุม โบราณสถานสำคัญที่ตั้งอยู่ภายในเมืองนครชุม ได้แก่ วัดพระบรมธาตุและวัดซุ้มกอ ส่วนที่อยู่นอกเมืองนครชุม ได้แก่ ป้อมทุ่งเศรษฐี วัดหนองพิกุล วัดหม่องกาเล และวัดเจดีย์กลางทุ่ง สำหรับโบราณสถานในเขตอรัญญิกของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรนั้น มีโบราณสถานรวมกลุ่มกันอย่างหนาแน่น ในบริเวณที่ต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน นอกจากนี้ สภาพภูมิประเทศโดยรอบของโบราณสถาน ยังเป็นป่าธรรมชาติที่มีการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี เพื่อคงไว้ ซึ่งบรรยากาศของโบราณสถานในเขตอรัญญิก หรืออรัญวาสี เช่นในอดีต
กรมศิลปากรได้เริ่มโครงการจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ และดำเนินการฟื้นฟูบูรณะโบราณสถานต่างๆ จนแล้วเสร็จ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดอุทยาน ประวัติศาสตร์กำแพงเพชรอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๔