อุทยาน ประวัติศาสตร์สุโขทัย
๑. ที่ตั้ง
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุโขทัยอยู่ห่างจากตัวเมืองสุโขทัย ไปทางทิศตะวันตก ๑๒ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ๔๔๗ กิโลเมตร
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณ สถานเมืองเก่าสุโขทัย รวมทั้งโบราณสถานแต่ละแห่ง ที่อยู่ภายในบริเวณ มีพื้นที่ ๔๓,๗๕๐ ไร่ หรือประมาณ ๗๐ ตารางกิโลเมตร
๒. ความสำคัญทางประวัติศาสตร์
ในด้านภูมิศาสตร์ บริเวณที่ตั้งของจังหวัดสุโขทัย อยู่ในบริเวณภาคกลางตอนบน โดยได้ค้นพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย ์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตามหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ ในเขตอำเภอศรีนคร อำเภอบ้านด่านลานหอย และอำเภอคีรีมาศ แสดงถึงหลักฐานของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งชุมชนเหล่านี้ ได้อยู่ต่อเนื่องกัน และตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นในเวลาต่อมา จนกระทั่งประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ชุมชนบริเวณนี้ จึงได้มีการติดต่อกับดินแดนอื่นๆ ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีพื้นฐานวัฒนธรรมแบบทวารวดี ทั้งนี้ ได้มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่วัดชมชื่น อำเภอศรีสัชนาลัย
วัดมหาธาตุ ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีเจดีย์ทรงดอกบัวตูม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางด้านสถาปัตยกรรมของสุโขทัยโดยเฉพาะ
หลักฐานทางศิลปกรรมที่พบในเขตเมืองเก่า สุโขทัยที่ศาลตาผาแดง และปรางค์เขาปู่จา ในเขตอำเภอคีรีมาศ ได้แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาของวัฒนธรรมเขมรโบราณ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งน่าจะเป็นพัฒนาการของการตั้งถิ่นฐานเป็นเมืองในวัฒนธรรมเขมร ในบริเวณที่ราบเชิงเขาหลวงเป็นครั้งแรก จนประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จึงปรากฏเรื่องราวของกลุ่มชนที่ตั้งตนเป็นอิสระ เพื่อปกครองเมืองสุโขทัย ซึ่งกลุ่มชนเหล่านี้ก็คือ บรรพชนของคนไทยในปัจจุบัน
อาณาจักรสุโขทัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐาน ตั้งแต่สมัยพ่อขุนศรีนาวนำถม และเริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (เดิมคือ พ่อขุนบางกลางหาว พ.ศ. ๑๗๘๑ - ปีใดไม่ปรากฏ) อาณาจักรสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองสูงสุด ในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ. ๑๘๒๒ - ๑๘๔๑) ช่วงสมัยของพระองค์ได้ทรงแผ่อาณาเขตออกไปโดยรอบ วัฒนธรรมไทยได้เจริญรุ่งเรืองทุกสาขา ทั้งในด้านการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม พระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และประเพณี ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ราชวงศ์ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (ราชวงศ์พระร่วง หรือสุโขทัย) ได้ปกครองอาณาจักรสุโขทัยสืบต่อมาเป็นเวลาประมาณ ๒๐๐ ปี ก็ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรอยุธยา
๓. โบราณสถานที่สำคัญ
สุโขทัยในอดีตเคยเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีกำแพงเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งเป็นกำแพงพูนดิน ๓ ชั้น มีประตูเมือง ๔ ประตู ทิศเหนือเรียกว่า ประตูศาลหลวง ทิศใต้เรียกว่า ประตูนะโม ทิศตะวันออกเรียกว่า ประตูกำแพงหัก และทิศตะวันตกเรียกว่า ประตูอ้อ ภายในเมืองมีตระพังหรือสระน้ำขนาดใหญ่ ๔ แห่ง คือ ตระพังเงิน ตระพังทอง ตระพังสอ และตระพังตระกวน ทั้งนี้ โบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีทั้งภายใน และภายนอกกำแพงเมือง รวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า ๑๒๕ แห่ง ประกอบด้วย
วัดศรีสวาย ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงเมือง
๑) โบราณสถานภายในกำแพงเมือง
สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น ๓๕ แห่งที่สำคัญคือ วัดมหาธาตุ ซึ่งมีเจดีย์ทรงดอก บัวตูม ที่เป็นเอกลักษณ์ทางด้านสถาปัตยกรรมของสุโขทัยโดยเฉพาะ โบราณสถานที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ เนินปราสาท วัดศรีสวาย วัดสระศรี วัดสรศักดิ์ วัดชนะสงคราม
๒) โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ
สำรวจพบแล้วมีทั้งสิ้น ๑๖ แห่ง ที่สำคัญคือ วัดพระพายหลวง วัดศรีชุม และเตาทุเรียง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตภาชนะดินเผา ที่มีชื่อเสียงของสุโขทัย
๓) โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก
สำรวจพบแล้วมีทั้งสิ้น ๑๘ แห่ง ที่สำคัญคือ วัดช้างล้อม วัดเจดีย์สูง และวัดตระพังทองหลาง โดยเฉพาะวัดตระพังทองหลาง มีพระพุทธรูปปูนปั้นตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ ซึ่งถือได้ว่า เป็นศิลปกรรมชิ้นเอกสมัยสุโขทัย
วัดศรีชุม ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ
๔) โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้
สำรวจพบแล้วมีทั้งสิ้น ๒๓ แห่ง ที่สำคัญ คือ วัดเชตุพน วัดเจดีย์สี่ห้อง วัดศรีพิจิตรกิติกัลยาราม วัดวิหารทอง และวัดต้นจันทน์
๕) โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก
สำรวจพบแล้วมีทั้งสิ้น ๒๓ แห่ง ที่สำคัญคือ วัดป่ามะม่วง เทวาลัยมหาเกษตร วัดมังกร วัดตึก
๖) โบราณสถานบนเนินเขา
สำรวจพบแล้วมี ๑๐ แห่ง ที่สำคัญคือ วัดสะพานหิน วัดช้างรอบ วัดเขาพระบาทน้อย วัดเจดีย์งาม วัดถ้ำหีบ วัดอรัญญิก และ ทำนบพระร่วง (สรีดภงส์) ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำ อยู่ระหว่างเขาพระบาทใหญ่กับเขากิ่วอ้ายมา กรมศิลปากรได้มีโครงการจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ และทำการบูรณะฟื้นฟูเรื่อยมา จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธาน ประกอบพิธีเปิดอุทยาน ประวัติศาสตร์สุโขทัย เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑ หลังจากนั้นต่อมาอีก ๓ ปี คณะกรรมการมรดกโลก แห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม และธรรมชาติของโลก ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ในการประชุม ณ เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม พร้อมกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เนื่องจากหลักฐานที่ปรากฏ แสดงให้เห็นถึงผลงานด้านสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น นับเป็นตัวแทนของศิลปกรรมไทยยุคแรก และเป็นต้นกำเนิดของการสร้างประเทศ