เล่มที่ 29
อุทยาน ประวัติศาสตร์ ในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

อุทยาน ประวัติศาสตร์เมืองสิงห์


๑. ที่ตั้ง

            อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ตั้งอยู่ในเขตตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๓๐ กิโลเมตร

            อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำแคว น้อย โดยมีทิวเขารายล้อมอยู่ ได้แก่ เขาท่าช้าง เขาพนมมาร และเขาโทนส่วนทางด้านทิศใต้ติดต่อกับแม่น้ำแควน้อย กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองสิงห์ไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘และกำหนดขอบเขตโบราณสถานมีพื้นที่ทั้งสิ้น ๗๑๘ ไร่ ๓ งาน

๒. ความสำคัญทางประวัติศาสตร์

            ได้มีการขุดค้นพบหลักฐานหลุมฝังศพและเครื่องมือเครื่องใช้ของคนใน สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ภาชนะดินเผา ขวาน ทัพพี กำไลสำริด ลูกปัดหิน ลูกปัดแก้ว มีอายุราว๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ที่บริเวณริมแม่น้ำแควน้อย นอกกำแพงเมืองสิงห์ด้านทิศใต้


โบราณสถานหมายเลข ๑ ในอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

            ในสมัยต่อมาเมื่อมีการสร้างเมืองสิงห์ ปรากฏหลักฐานได้แก่ ตัวเมืองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดพื้นที่ประมาณ ๑ ตารางกิโลเมตร มีคูเมือง คันดิน และกำแพงเมืองศิลาแลงล้อมรอบ ที่กลางเมืองมีโบราณสถานทรงปราสาท ซึ่งสร้างขึ้นตามลักษณะศิลปะเขมรแบบบายน และมีโบราณวัตถุที่เป็นประติมากรรมตามลักษณะศิลปะเขมรแบบเดียวกัน จากลักษณะทางศิลปกรรม สามารถกำหนดอายุได้ว่า ปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ในสมัยที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงปกครองเขมร และได้พบศิลาจารึกหลักหนึ่งที่ปราสาทพระขรรค์ มีข้อความที่สรรเสริญความกล้าหาญและการทำบุญกุศลของพระเจ้าชัยวรมัน ที่ ๗ มีตอนหนึ่งกล่าวถึงชื่อเมืองต่างๆ ๒๓ แห่ง ว่า เป็นที่ประดิษฐานพระชัยพุทธมหานาม พระพุทธรูปองค์หนึ่งซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับเมืองสิงห์และบริเวณใกล้ เคียง โดยเฉพาะได้ระบุชื่อเมือง ๖ เมือง ได้แก่ ลโวทยะปุระ สุวรรณปุระ ศัมพูกะปัฏฏนะ ศรีราชบุรี ศรีชัยสิงหบุรี และ ชัยวัชรบุรี โดยเมืองศรีชัยสิงหบุรีน่าจะเป็นเมืองสิงห์ อันเป็นที่ตั้งของปราสาทเมืองสิงห์นี้ เมืองสิงห์ และปราสาทเมืองสิงห์คงถูก ทิ้งร้างไปในช่วงที่เขมรหมดอำนาจ เพราะไม่ปรากฏมีการกล่าวถึงชื่อเมืองสิงห์ ในสมัยสุโขทัย และอยุธยา อีกเลย เมืองสิงห์ได้ปรากฏหลักฐานอีกครั้ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยพระองค์ได้ทรงสถาปนาเมืองสิงห์ขึ้นใหม่อีกครั้ง แต่มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านเล็กๆ มีเจ้าเมืองปกครองขึ้นอยู่กับเมืองกาญจนบุรี จนกระทั่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง เป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองสิงห์จึงถูกลดฐานะลงเป็นตำบลเรียกกันว่า ตำบลสิงห์ มาจนถึงทุกวันนี้

            กรมศิลปากรได้เริ่มบูรณะเมืองสิงห์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ ในรูปแบบของอุทยานประวัติศาสตร์จนกระทั่งแล้วเสร็จ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธาน ในพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ เมืองสิงห์ เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๐

๓. โบราณสถานสำคัญ

            ภายในบริเวณกำแพงเมืองสิงห์ได้มีการสำรวจพบโบราณสถานเนื่องในศาสนา อยู่ ๔ แห่ง เรียกชื่อว่า โบราณสถานหมายเลข ๑ - ๒ - ๓ - ๔ ตามลำดับดังนี้


พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี พบที่โบราณสถานหมายเลข ๑ ในอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์
            ๑) โบราณสถานหมายเลข ๑

            มีองค์ประกอบด้านสถาปัตยกรรม คือ
  • ชาลาด้านหน้ากำแพงแก้ว มีลักษณะชาลาเป็นรูปกากบาท
  • กำแพงแก้วและโคปุระ เชื่อมต่อกับชาลาด้านหน้าที่เป็นโคปุระทางเข้ากำแพงแก้ว
  • ชาลาด้านหน้าโคปุระระเบียงคด ลักษณะเป็นทางเดินยกพื้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
  • ระเบียงคด ตั้งอยู่ล้อมรอบปราสาทประธาน ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
  • บรรณาลัย ลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งอยู่ภายในบริเวณระเบียงคด ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน หันหน้าไปทางทิศตะวันตก
  • ปราสาทประธาน ลักษณะเป็นปราสาทองค์เดียว ตั้งอยู่บนฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อเก็จขนาดใหญ่ มีมุขยื่นออกไปรับ กับมุขด้านในของโคปุระทั้ง ๔ ทิศ
  • ภายในบริเวณโบราณสถานหมายเลข๑ ได้ค้นพบรูปเคารพที่สำคัญคือ พระพุทธรูปนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และนางปรัชญาปารมิตา ซึ่งรวมเรียกว่า รัตนตรัยมหายาน เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อเกี่ยวกับการก่อสร้าง ปราสาทเมืองสิงห์ว่า สร้างขึ้นเนื่องในพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน
  • ชาลาด้านหลังปราสาทประธาน ตั้งอยู่นอกแนวกำแพงแก้ว ลักษณะเป็นรูปกากบาท

            ๒) โบราณสถานหมายเลข ๒

            ลักษณะเป็นกลุ่มอาคารที่สร้างอยู่บนฐานเดียวกัน เป็นฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซ้อนกัน ๒ ชั้น

            โบราณสถานฉาบด้วยปูนขาว และมีลวดลายปูนปั้นประดับ ได้ค้นพบประติมากรรมหินทราย รูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร นางปรัชญาปารมิตา และแหวนทอง

            ๓) โบราณสถานหมายเลข ๓

            โบราณสถานถูกลักลอบขุดทำลาย จนไม่สามารถศึกษารูปแบบทางด้านสถาปัตยกรรมที่ชัดเจนของโบราณสถานได้

            ๔) โบราณสถานหมายเลข ๔

            จากการขุดแต่งพบลักษณะเป็นเพียงพื้นของอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สันนิษฐานว่า เป็นฐานราก ไม่สามารถกำหนดรูปทรง ที่แน่นอนได้ เพราะพบเพียงแต่พื้นของโบราณสถาน