เล่มที่ 29
อุทยาน ประวัติศาสตร์ ในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
อุทยาน ประวัติศาสตร์พระนครคีรี

๑. ที่ตั้ง

            อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรีหรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “เขาวัง” นั้น เดิมเป็นพระราชวัง ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองฯ จังหวัดเพชรบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ๑๒๑ กิโลเมตร

            “พระ นครคีรี” ตั้งอยู่บนยอดเขา ๓ ยอด ที่ยาวติดต่อกัน มีพื้นที่ประมาณ ๑๘๘ ไร่ ยอดเขามีความสูงจากระดับพื้นดินประมาณ ๘๐ - ๙๐ เมตร

๒. ความสำคัญทางประวัติศาสตร์

            จากการศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดีพบว่า เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว ที่บริเวณภูเขาด้านทิศตะวันตกและบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี มีคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์อาศัยอยู่ หลักฐานที่พบได้แก่ ภาชนะดินเผา ลูกปัดหิน และเครื่องประดับสำริด เช่นแหวน กำไล


พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี อ.เมืองฯ จ.เพชรบุรี

            การติดต่อค้าขายกันทางทะเล ทำให้วัฒนธรรมของประเทศอินเดียเริ่มเข้ามาสู่พื้นที่บริเวณนี้ เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖ โดยได้พบโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมแบบทวารวดีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น โบราณสถานทุ่งเศรษฐี ที่บ้านโคกเศรษฐี ตำบลนายาง อำเภอชะอำ มีเนินโบราณขนาดใหญ่ก่อด้วยอิฐ

            ต่อมาอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรโบราณได้ขยายตัวขึ้นบริเวณนี้ ปรากฏหลักฐานที่หลงเหลืออยู่คือ โบราณสถานที่วัดกำแพงแลง ซึ่งมีลักษณะเป็นปรางค์ และพบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรด้วย จึงถือเป็นพุทธสถานในลัทธิมหายานที่ได้รับอิทธิพลศิลปะเขมรแบบบายน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และพระนามของพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๑ จากหลักฐานทางศิลปะ ปราสาทหินพิมายอยู่ระหว่างตอนปลายของศิลปะเขมรแบบบาปวน กับตอนต้นของศิลปะเขมรแบบนครวัด คือ ประมาณตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ สืบมาจนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔ - ๑๗๖๒) ซึ่งโปรดให้สร้างพระรูปของพระองค์ประดิษฐานไว้ที่ปรางค์พรหมทัต ภายในบริเวณปราสาทหินพิมาย

            เมื่ออิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรเริ่มเสื่อมลงหลังสมัยของพระเจ้าชัย วรมันที่ ๗ และมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยในเวลาต่อมา ก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่เกี่ยวกับเมืองพิมายอีกเลย เมืองพิมายกลับมามีความสำคัญอีกครั้งหนึ่งเมื่อคราวเสียกรุง ศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๓๑๐ กรมหมื่นเทพพิพิธ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงรวบรวมผู้คนตั้งตัวเป็นใหญ่เรียกว่า ก๊กเจ้าพิมาย ขึ้นที่เมืองนี้ แต่ในที่สุด สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงปราบปรามได้ใน พ.ศ. ๒๓๑๑ ในสมัยรัตนโกสินทร์ ตำแหน่งหลวงปลัดพิมาย ยังคงมีปรากฏอยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มปฏิรูปการปกครองหัวเมือง ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ เมืองนครราชสีมา ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ ได้รวมกันเป็นมณฑลนครราชสีมา เมืองพิมายจึงมีฐานะเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองนครราชสีมา กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทหินพิมายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ และต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๙ กรมศิลปากรได้จัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พิมายขึ้น และได้ทำการบูรณะปรับปรุง จนแล้วเสร็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ เมืองเพชรบุรีคงเป็นเมืองที่สำคัญสืบมาจนถึงสมัยสุโขทัย ซึ่งปรากฏชื่อเมืองเพชรบุรี ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ว่า “เบื้อง หัวนอน รอดคนที พระบางแพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี...”


สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี
เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒

            ในสมัยอยุธยายังคงปรากฏชื่อเมืองเพชรบุรี ในกฎหมายที่ตราขึ้น ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และมีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์ เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยากับหัวเมืองภาคใต้ จนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เมืองเพชรบุรีในสมัยรัตนโกสินทร์ ยังคงความสำคัญในฐานะเมืองทางยุทธศาสตร์ เพื่อควบคุมหัวเมืองทางภาคใต้ และทำศึกสงครามกับพม่า นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระหว่างที่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔) ทรงผนวช ได้เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีหลายครั้ง เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สร้าง “พระ นครคีรี” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการซ่อมแซมตัวอาคาร ที่เกิดความเสียหาย เนื่องจากเกิดฟ้าผ่าใน พ.ศ. ๒๔๒๖ หลังจากนั้นแล้ว ไม่พบหลักฐานว่า ได้มีการซ่อมบำรุงแต่อย่างใด จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๔๙๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำริ ให้บูรณปฏิสังขรณ์พระนครคีรี กรมศิลปากรจึงได้ทำการซ่อมแซมอาคารแต่เพียงบางหลังเท่านั้น ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๒๕ กรมศิลปากร จึงได้จัดทำโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี และได้แล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐

            ปัจจุบัน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี ยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี ที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่สำคัญ ในรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเป็นองค์ประธาน ประกอบพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒

๓. โบราณสถานสำคัญ

            ในการก่อสร้างพระนครคีรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้นำสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนีโอคลาสิก มาเป็นแบบอย่างในการก่อสร้าง แต่ฝีมือช่าง ยังมีอิทธิพลของสถาปัตยกรรมจีนเข้ามาผสมผสานอยู่ด้วย เช่น การปั้นสันหลังคา และการใช้กระเบื้องกาบกล้วย สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดอยู่บนยอดเขาทั้ง ๓ ยอด มีรายละเอียดดังนี้

            ๑) ยอดเขาด้านทิศตะวันออก

                      เป็นที่ตั้งของวัดพระแก้ว ประกอบด้วย พระอุโบสถ พระสุทธเสลเจดีย์ หอระฆัง ศาลา และพระปรางค์แดง

            ๒) ยอดเขากลาง

                        เป็นที่ประดิษฐานเจดีย์ทรงกลม มีฐานทักษิณโดยรอบ ได้รับพระราชทานนามว่า “พระ ธาตุจอมเพชร”

            ๓) ยอดเขาด้านทิศตะวันตก

                        เป็นที่ตั้งของพระราชวัง ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งและอาคารต่างๆ ซึ่งพระราชทานนามไว้คล้องจองกัน คือ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท พระที่นั่งราชธรรมสภา หอชัชวาลเวียงชัย หอพิมานเพชรมเหศวร์ ตำหนักสันถาคารสถาน โรงมหรสพหรือโรงโขน กลุ่มอาคาร นารีประเวศ