เล่มที่ 29
อุทยาน ประวัติศาสตร์ ในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
อุทยาน ประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

๑. ที่ตั้ง

            อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามีเนื้อที่ ๑,๘๑๐ ไร่ ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ไปทางทิศเหนือประมาณ ๗๕ กิโลเมตร

            กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์พระ นครศรีอยุธยาไว้ มีพื้นที่ ๑,๘๑๐ ไร่

๒. ความสำคัญทางประวัติศาสตร์

            ก่อนที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) จะทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นใน พ.ศ. ๑๘๙๓ นั้นนักวิชาการเชื่อว่า บริเวณดังกล่าวได้มีบ้านเมืองตั้งอยู่ก่อนแล้ว เรียกว่า เมืองอโยธยา หรืออโยธยาศรีรามเทพนครมีที่ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันออกนอกเกาะเมืองอยุธยา ปรากฏหลักฐานโบราณสถานที่เป็นวัดสำคัญ เช่น วัดมเหยงค์ วัดอโยธยารวมทั้งจากพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวถึงการก่อสร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า พระเจ้าพแนงเชิงพระประธานของวัดพนัญเชิง โดยระบุว่า สร้างขึ้นก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง ๒๖ ปีด้วยทำเลที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาที่มีลักษณะเป็นเกาะเมือง มีแม่น้ำที่สำคัญ ๓ สายโอบล้อม คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสักและแม่น้ำลพบุรี ทำให้พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นชุมทางคมนาคมทางน้ำ รวมทั้งยังเป็นปราการธรรมชาติ ในการป้องกันข้าศึกศัตรูกรุงศรีอยุธยาจึงเป็นราชธานีใหญ่ที่สามารถกุมอำนาจเหนือ เมืองใกล้เคียงได้เป็นเวลายาวนาน

            กรุงศรีอยุธยาเติบโตเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการค้า ที่สำคัญแห่งหนึ่ง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๓ มีชาวต่างชาติทั้งจากทวีปเอเชียและทวีปยุโรป เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ โปรตุเกส สเปน ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส เข้ามาค้าขายทางเรือ ส่วนมากมีความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย บางชาติก็ได้รับพระราชทานที่ดิน สำหรับตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน สถานีการค้า และศาสนสถาน โดยหมู่บ้านของชาวต่างประเทศส่วนใหญ่จะอยู่นอกตัวเมืองมีเฉพาะชาว จีน ชาวฮินดู และชาวมุสลิมเพียงบางกลุ่มซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสำนัก เท่านั้น ที่ได้รับพระบรมราชานุญาต ให้สร้างบ้านเรือนอยู่ภายในเมือง


วัดราชบูรณะ ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

            นอกจากนี้ กรุงศรีอยุธยายังมีความเจริญ ก้าวหน้าทางด้านการปกครอง กฎหมาย การศาล ระบบสังคม การศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ประณีตศิลป์ ภาษา วรรณกรรม และนาฏดุริยางคศิลป์ ศิลปวิทยาการต่างๆ ที่คนไทยในอาณาจักรอยุธยาได้สั่งสมไว้ ซึ่งได้สืบทอดและพัฒนาต่อมาในสมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ จวบจนทุกวันนี้

๓. โบราณสถานสำคัญ

            โบราณสถานเท่าที่สำรวจพบแล้ว ทั้งภายในเมือง และนอกกำแพงเมืองมี ๔๒๕ แห่ง ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะโบราณสถานสำคัญ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในเกาะเมือง และพื้นที่ด้านทิศเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเมือง มีโบราณสถานที่สำรวจพบแล้ว จำนวนทั้งสิ้น ๙๕ แห่ง ประกอบด้วย

            ๑) พระราชวังโบราณหรือพระราชวังหลวง

            พระราชวังโบราณตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ริมแม่น้ำลพบุรี ปัจจุบันเหลือแต่เพียงฐานรากพระที่นั่งองค์ต่างๆ เนื่องจากถูกเผาทำลายเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ ๒ พระราชวังโบราณนี้สร้างขึ้นใน สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อทรง อุทิศที่ตั้งของพระราชมณเทียรเดิมที่สร้างไว้ สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ให้เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์


วัดพระศรีสรรเพชญ์
ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
            ๒) วัดพระศรีสรรเพชญ์

            เป็นวัดที่สำคัญที่สุดของกรุงศรีอยุธยา โดยแต่เดิมสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ได้ทรงสร้างพระราชมณเทียรขึ้นที่บริเวณนี้ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงอุทิศบริเวณพระราชมณเทียรให้เป็น วัด ในเขตพระราชวัง สำหรับเป็นที่ประกอบพระราชพิธีที่สำคัญ และเป็นที่เสด็จออกบำเพ็ญพระราชกุศล

            ๓) วัดราชบูรณะ

            สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) โปรดให้สถาปนาขึ้นใน พ.ศ. ๑๙๖๗ ตรงบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระศพ เจ้าอ้ายพระยา และเจ้ายี่พระยา พระเชษฐาทั้ง ๒ พระองค์ ซึ่งสิ้นพระชนม์เนื่องจากการสู้รบแย่งชิงราชสมบัติ

            ๔) วิหารพระมงคลบพิตร

            พระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปสำริด องค์ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย ซึ่งสันนิษฐานว่า สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้บูรณะวิหารพระมงคลบพิตรใหม่ทั้งหมดดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

            นอกจากนี้ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยายังมีโบราณสถานที่สำคัญ แห่งอื่นๆ อีก เช่น วัดพระราม วัดญาณเสน วัดธรรมิกราช วัดวรโพธิ์ วัดวรเชษฐาราม

            กรมศิลปากรได้ดำเนินการอนุรักษ์โบราณสถานเมืองพระนครศรีอยุธยาภาย ใต้ชื่อ โครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ และต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๓๔ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก ทางวัฒนธรรม พร้อมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร