อุทยาน ประวัติศาสตร์พิมาย
๑. ที่ตั้ง
อุทยานประวัติศาสตร์พิมายตั้งอยู่ในเขตตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมาห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๓๒๐ กิโลเมตร ที่ตั้งของอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้อยู่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำ มูลผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวในแนวทิศเหนือ - ใต้
๒. ความสำคัญทางประวัติศาสตร์
จากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีภายในเมืองพิมาย ได้พบหลักฐานการอยู่อาศัยของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีอายุระหว่าง๒,๐๐๐ - ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว รวมไปถึงหลักฐานของอิทธิพลวัฒนธรรมทวารวดี ที่คงเคยมีอยู่ภายในบริเวณนี้
ต่อมา เมื่ออิทธิพลวัฒนธรรมเขมรได้ แพร่หลายเข้ามา จึงได้มีการรื้อทำลาย และสร้างศาสนสถานตามคติความเชื่อของตนเองขึ้นมาแทน
เมืองพิมายเป็นเมืองที่สร้างตามแบบแผนของศิลปะเขมรคือ มีกำแพงเมือง และคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีประตูเมืองทั้ง๔ ด้าน จากจารึกที่พบอยู่บนซุ้ม ประตูระเบียงคดด้านทิศใต้ของปราสาทหินพิมายได้กล่าวถึงศักราช พ.ศ.๑๖๕๑-๑๖๕๕
ชาลาทางเข้าสู่ปราสาทประธาน อุทธยานประวัติศาสตร์พิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
๓. โบราณสถานสำคัญ
เมืองพิมายมีลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำล้อมรอบ กำแพงเมือง ทำจากคันดินอยู่ด้านในคูเมือง และมีประตูเมืองสร้างจากศิลาแลงทั้ง ๔ ด้าน โดยแนวประตูเมืองจะตรงกับโคปุระ (ซุ้มประตูทางเข้า) ของปราสาทหินพิมายทั้ง ๔ ด้าน
นอกเมืองพิมายด้านทิศตะวันออกมีสระน้ำขนาดใหญ่เรียกว่า สระเพลง ส่วนด้านทิศตะวันตกมีสระโบสถ์ ด้านทิศใต้ พบร่องรอยของบาราย (สระน้ำ) ขนาดใหญ่อยู่ฟากทิศใต้ของลำน้ำเค็ม ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำมูล สำหรับด้านทิศเหนือริมลำน้ำเค็ม พบโบราณสถานท่านางสระผม สันนิษฐานว่า เป็นท่าเรือสมัยโบราณ สำหรับผู้เดินทางเข้าสู่เมืองพิมายโดยทางเรือ
รูปท้าวพรหมทัต ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระรูปเหมือนของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แกะสลักจากหินทราย พบที่ปรางค์พรหมทัต
ภายในบริเวณปราสาทหินพิมาย อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
ด้านทิศใต้นอกเมืองพิมายมีโบราณสถานกุฏิ ฤาษี ซึ่งเป็นอโรคยาศาล (โรงพยาบาล) สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นอกจากนี้ ยังพบแนวคันดิน ที่เชื่อว่า เป็นแนวถนนโบราณ และสระช่องแมวซึ่งเป็นสระโบราณ ปรากฏอยู่ด้วย
ภายในเมืองพิมายมีสระน้ำโบราณ ๓ แห่ง คือ สระแก้ว สระพรุ่ง และสระขวัญ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทหินพิมายมีโบราณสถานเรียกว่า ปรางค์พรหมทัต ลักษณะเป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐ สร้างอยู่บนเนินดินขนาดใหญ่ อาจเป็นโบราณสถาน ที่สร้างในสมัยหลัง โดยรื้อเอาอิฐจากโบราณสถานแห่งอื่น มาสร้างเป็นเจดีย์บนเนินดินก็เป็นได้
โคปุระทางเข้าด้านทิศตะวันออก
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
ปราสาทหินพิมายสร้างอยู่ในเมืองพิมายค่อนไปทางด้านทิศเหนือ เป็นพุทธสถานในลัทธิมหายาน (นิกายวัชรยาน) ตัวโบราณสถานหันหน้าไปทางทิศใต้ ผิดกับโบราณสถานแห่งอื่นซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะแบบเขมร ที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
อุทยานประวัติศาสตร์พิมายถือได้ว่า เป็นโบราณสถานเนื่องในอิทธิพลศิลปะเขมรที่สำคัญ และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ในด้านต่างๆ ไว้ให้ศึกษา ที่ควรจะช่วยกันอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป