อ้อย (Sugarcane - Saccharum officinarum L.) เป็นพืชพวกหญ้าชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อมนุษย์มาก ในแง่ของการใช้เป็นอาหาร อ้อยนับเป็นพืชสำคัญอันดับ ๔ ของโลกรองจากข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าว ตามลำดับ แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของผลผลิต คิดเป็นน้ำหนักแห้งที่เก็บเกี่ยวได้ต่อเนื้อที่ต่อปี อ้อยมาเป็นอันดับแรก ทั้งนี้ เพราะอ้อยสามารถใช้ปัจจัยสำหรับการเจริญเติบโต เช่น แสงแดด น้ำ อากาศ และธาตุอาหารได้มีประสิทธิภาพมากกว่านั่นเอง นอกจากนี้อ้อยยังเป็นพืชที่ปลูกง่าย และเมื่อปลูกครั้งหนึ่งแล้ว สามารถเก็บเกี่ยวได้หลายครั้ง อ้อยชอบอากาศร้อนและชุ่มชื้น ดังนั้นประเทศที่ปลูกอ้อย ซึ่งมีประมาณ ๗๐ ประเทศจึงอยู่ในแถบร้อนและชุ่มชื้นในระหว่างเส้นรุ้งที่ ๓๕ องศาเหนือ และ๓๕ องศาใต้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ในปี พ.ศ.๒๕๒๐-๒๑ ทั่วโลกผลิตน้ำตาลได้ ๙๓.๐๕ ล้านเมตริกตัน ในจำนวนนี้ผลิตจากอ้อย ๕๖.๙๔ ล้านเมตริกตัน และจากหัวบีท (sugar beet) ๓๗.๐๑ ล้านเมตริกตัน ประเทศที่ผลิตน้ำตาลจากอ้อยได้มากที่สุด คือ บราซิล ผลิตได้ ๗.๕ ล้านเมตริกตัน รองลงมาได้แก่ อินเดีย คิวบา ออสเตรเลีย เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ จีน และไทย ผลิตได้ ๖.๐, ๕.๘, ๓.๔, ๒.๖๙, ๒.๖๗, ๒.๖๐, ๒.๒๖ ล้านเมตริกตัน ตามลำดับ ประเทศนอกเหนือจากที่กล่าวนี้ ล้วนผลิตน้ำตาลใด้ในปีดังกล่าว น้อยกว่าประเทศไทยทั้งสิ้น |
อ้อยปลูกอายุประมาณ ๕-๖ เดือน กำลังอยู่ในระยะเติบโตอย่างรวดเร็ว |
สำหรับประเทศไทยได้มีการปลูกอ้อยมาแต่โบราณกาล แต่การทำน้ำตาลจากอ้อยได้เริ่มในสมัยกรุงสุโขทัยประมาณปี พ.ศ. ๑๙๒๐ แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่เมืองสุโขทัย พิษณุโลก และกำแพงเพชร น้ำตาลที่ผลิตได้ในสมัยนั้นเป็นน้ำตาลทรายแดง (muscovado) หรือน้ำอ้อยงบ เชื่อกันว่าชาวจีน เป็นผู้ที่นำเอากรรมวิธีการผลิตน้ำตาลทรายแดงเข้ามา ส่วนการผลิตน้ำตาลทรายขาว (centrifugal sugar) นั้นได้เริ่มที่จังหวัดลำปางเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ หลังจากนั้นการผลิตน้ำตาลทรายขาวได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยลำดับ จากการผลิตเพียงเพื่อ ทดแทนปริมาณน้ำตาลที่เราต้องสั่งเข้ามาจากประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย จนกระทั่ง ผลิตได้พอใช้บริโภคภายในประเทศ และเหลือส่งออกต่างประเทศเป็นจำนวนถึง ๕,๗๒๓ เมตริกตัน คิดเป็นมูลค่า ๘.๑๐ ล้านบาท ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒-๐๓ มูลค่าส่งออกของน้ำตาล ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากไม่ถึง ๑๐ ล้านบาท เป็น ๓๓๐ ล้านบาทในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ และเป็น ๑,๒๕๒ ล้าน บาทในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๒๐ มูลค่าส่งน้ำตาลออกได้เพิ่มขึ้นเป็น ๗,๓๙๕ ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้สูงสุดนับตั้งแต่ประเทศไทยได้มีการส่งน้ำตาลเป็นสินค้าออก และนับเป็นรายได้อันดับ ๓ รอง จากข้าวและมันสำปะหลัง ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ มูลค่าการส่งออกลดลงเหลือเพียง ๓,๙๗๒ ล้านบาท สาเหตุเนื่องจากน้ำตาลล้นตลาด และราคาตกต่ำ แม้กระนั้น ก็ยังเป็นรายได้ ๑ ใน ๑๐ ของสินค้าออกทั้งหมด จึงนับได้ว่า อ้อยเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย |