เล่มที่ 5
อ้อย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การปฏิบัติรักษาภายหลังปลูก

ก. การให้น้ำและการระบายน้ำ

            เนื่องจากอ้อยปลูกเป็นร่องๆ อยู่แล้ว ดังนั้นการให้น้ำจึงกระทำได้ง่าย โดยปล่อยน้ำเข้าไปตามร่องจากที่สูงสู่ที่ต่ำ ในขณะเดียวกัน ก็ทำร่องทิ้งน้ำไว้ทางปลายร่อง เพื่อจะได้ระบายน้ำที่เกินพอออกไปจากไร่ การให้น้ำภายหลังปลูกมักกระทำทันทีที่ปลูกเสร็จ ส่วนครั้งต่อๆ ไปให้เมื่ออ้อยเริ่มแสดงอาการขาดน้ำ ซึ่งจะเห็นได้จากอาการที่ใบห่อในเวลาเที่ยงวัน หรือเวลาบ่าย ปริมาณน้ำ และเวลาที่ให้แตกต่างกันตามชนิดของดิน ลมฟ้าอากาศ ตลอดจนระยะการเจริญเติบโตของอ้อยด้วย
การใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้นปล่อยน้ำไปตามร่องน้ำ
การใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้นปล่อยน้ำไปตามร่องน้ำ
            สำหรับการให้น้ำก่อนหรือหลังปลูกนั้น มีชาวไร่บางรายสังเกตว่า ในสภาพดินร่วนเหนียวปนทราย เช่น ในท้องที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม การให้น้ำก่อนปลูกโดยปล่อยน้ำเข้าตามร่อง แล้วทิ้งไว้จนกระทั่งดินหมาดพอที่จะปลูกได้สะดวก จึงปลูกได้ผลดีกว่าการให้น้ำหลังปลูก

            วิธีให้น้ำนอกจากจะปล่อยเข้าไปตามร่องแล้ว ยังอาจให้แบบฝนเทียม (sprinkle) หรือแบบหยดน้ำ (drip หรือ triggle) อีกด้วย การให้น้ำแบบหยดน้ำคงจะเป็นที่นิยมในอนาคต เพราะนอกจากจะประหยัดทั้งน้ำ และค่าใช้จ่ายแล้วยังได้ผลดีอีกด้วย

ข. การปลูกซ่อม

            ถ้าปลูกด้วยท่อนพันธุ์ ๓ ตา และมีการคัดเลือกเฉพาะท่อนที่มีตาสมบูรณ์ การปลูกซ่อมก็อาจไม่จำเป็น เพราะอ้อยจะงอกเป็นส่วนมาก ความจริงท่อนพันธุ์ที่มี ๓ ตานั้น ถ้างอกเพียงตาเดียวก็พอแล้ว แม้ว่าบางท่อนจะไม่งอกเลย แต่ถ้าช่องว่างที่ไม่งอกนั้น มีความยาวไม่เกิน ๗๕ เซนติเมตร ก็ไม่จำเป็นต้องซ่อม ทั้งนี้เพราะกอที่อยู่ข้างๆ ช่องว่างนั้น จะมีการแตกกอมากขึ้นเป็นการชดเชย การปลูกซ่อมควรกระทำภายในเวลา ๓-๔ สัปดาห์ ภายหลังปลูก และควรใช้ท่อนพันธุ์ หรือชิ้นตาที่ชำให้งอกก่อน แล้วปลูกซ่อมจะให้ผลดีกว่าใช้ท่อนพันธุ์โดยตรง

ค. การกำจัดวัชพืช


            การกำจัดวัชพืชอาจกระทำโดยอาศัยแรงงานคนถากด้วยจอบ หรือใช้เครื่องจักรพรวนเมื่อเห็นว่ามีวัชพืช นอกจากนี้ ก็อาจใช้สารเคมีประเภทก่อนงอก เช่น พวกไดยูรอน (diuron) อัตราประมาณ ๒๐๐-๔๐๐ กรัมของตัวยาต่อไร่ ฉีดก่อนที่อ้อยและวัชพืชจะงอก แต่ต้องระวังในการใช้ยาพวกนี้ เพราะอาจเป็นอันตรายแก่อ้อยบางพันธุ์ นอกจากนี้ก็มีพวกอะเมทรีน (ametryne) ซึ่งใช้ในอัตรา ๓๐๐-๖๐๐ กรัมของเนื้อยาต่อไร่ ยานี้เป็นอันตรายต่ออ้อย น้อยกว่าพวกไดยูรอน สำหรับยาประเภทฉีดภายหลังที่อ้อยและวัชพืชงอกแล้ว ได้แก่ ๒, ๔-D ซึ่งใช้ในอัตรา ๒๐๐-๔๐๐ กรัมของเนื้อยาต่อไร่ สำหรับกำจัดวัชพืชใบกว้าง และอะเมทรีนในอัตราต่ำกว่าที่กล่าวข้างต้นก็สามารถใช้ฉีดหลังงอกได้ การฉีดหลังงอกต้องระวัง อย่าให้ถูกอ้อยมากนัก เพราะอาจเป็นอันตรายได้

ง. การใส่ปุ๋ยและการพูนโคน

            ชาวไร่ที่ส่งอ้อยแก่โรงงานที่ซื้อตามน้ำหนักมักนิยมใส่ปุ๋ยเดี่ยว คือ แอมโมเนียมซัลเฟต หรือแอมโมเนียมคลอไรด์ อัตราประมาณ ๑๐-๒๐ กิโลกรัม ไนโตรเจนต่อไร่ ใส่ครั้งเดียว ส่วนพวกที่ขายอ้อยให้แก่โรงงานที่ซื้อตามคุณภาพ มักจะใส่ปุ๋ยผสมสมบูรณ์สูตรต่างๆ เช่น ๑๒-๑๐-๑๘ หรือ ๑๓-๑๓-๒๑ หรือ ๑๕-๑๕-๑๕ อัตรา ๑๐๐-๑๕๐ กิโลกรัมต่อไร่ การใส่ปุ๋ยครั้งที่สองนี้ กระทำโดยโรยปุ๋ยไปตามแถวอ้อย แล้วพรวนดินกลบ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาปริมาณปุ๋ยที่ชาวไร่ใส่ กับอายุของอ้อย ที่ยืนยาวนับปีแล้ว จะเห็นว่า ปุ๋ยที่ใส่นั้นค่อนข้างน้อยมาก ชาวไร่บางรายนอกจากจะพรวนดินกลบปุ๋ยแล้ว ยังพูนโคน (hilling-up) อีกด้วย วิธีการก็คือ การไถดินระหว่างร่องเข้ามากลบที่โคนอ้อย ทำให้มีร่องเกิดขึ้นระหว่างแถวอ้อย วิธีนี้อาจไม่จำเป็น สำหรับที่บางแห่ง โดยเฉพาะแห่งที่ปลูกโดยอาศัยน้ำฝน
การใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้นปลการใส่ปุ๋ยอ้อย ใช้จอบขุดเป็นหลุมใกล้กออ้อยใส่ปุ๋ยลงไปแล้วกลบ ่อยน้ำไปตามร่องน้ำ
การใส่ปุ๋ยอ้อย ใช้จอบขุดเป็นหลุมใกล้กออ้อยใส่ปุ๋ยลงไปแล้วกลบ
จ. การป้องกันและการกำจัดโรคและแมลง ศัตรูอ้อย

ก. โรคอ้อย

            ที่พบในประเทศไทยมีมากกว่า ๒๐ โรค แต่ที่ระบาดทำความเสียหายมากมีประมาณ ๕ โรค คือ โรคแส้ดำ โรคราสนิม โรคไส้แดง โรคใบลาย หรือใบด่าง และโรคใบขาว

            ๑. โรคแส้ดำ (smut) เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้ยอดมีลักษณะคล้ายแส้โผล่ออกมา ที่แส้จะเต็มไปด้วยเขม่าสีดำ ซึ่งหุ้มอยู่ด้วยเยื่อบางสีขาว เมื่อเยื่อแตกออกทำให้เขม่าสีดำซึ่งก็คือ สปอร์ ของเชื้อโรคปลิวไปตามลม ลักษณะอื่นๆ ที่ปรากฏ ก็คือ ลำต้นส่วนใหญ่แคระแกร็นไม่ย่างปล้อง มีการแตกกอมากผิดปกติ อ้อยตอเป็นมากกว่าอ้อยปลูก พันธุ์ที่เป็นโรคนี้มากได้แก่ เอ็นซีโอ ๓๑๐ ซีบี ๓๘-๒๒ และซีโอ ๔๒๑ ส่วนพันธุ์ เอฟ ๑๔๐ และคิว ๘๓ ก็เป็นโรคนี้ แต่ไม่มากนัก
โรคแส้ดำ
โรคแส้ดำ
การป้องกันกำจัด

            ๑. ปลูกพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรค
            ๒. ขุดทำลายต้นที่เป็นโรค
            ๓. แช่ท่อนพันธุ์ในน้ำร้อน
            ๔. ปล่อยให้ดินว่างหรือปลูกพืชหมุนเวียน
            ๕. พันธุ์ที่เป็นโรคนี้อย่างรุนแรง ไม่ควรไว้ตอ

            ๒. โรคราสนิม (rust) เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งเกิดที่ใบ ทำให้ใบเป็นจุดเล็กๆ สีคล้ายสนิมเหล็กเป็นจำนวนมาก มองดูคล้ายใบเป็นสนิมทั้งใบ ใบแก่ที่อยู่ข้างล่างเป็นมากกว่าใบอ่อน พันธุ์ที่เป็นโรคนี้มาก คือ คิว ๘๓

การป้องกันกำจัด

            ๑. ปลูกพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรค
            ๒. รักษาความสะอาดในแปลง
            ๓. ใช้ยากำจัดเชื้อราฉีด

            ๓. โรคไส้แดง (red rot) เกิดจากเชื้อราทำให้ภายในลำต้นเป็นสีแดง และมีสีขาวสลับเป็นห้วงๆ มักเป็นแก่ท่อนพันธุ์ และอ้อยที่แก่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยว พันธุ์ที่เป็นโรคนี้มาก คือ พินดาร์

การป้องกันกำจัด

            ๑. ปลูกพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรค
            ๒. ขุดทำลายต้นที่เป็นโรค
            ๓. แช่ท่อนพันธุ์ในยาป้องกันเชื้อรา
            ๔. ใช้ท่อนพันธุ์ที่ปลอดโรค

            ๔. โรคใบลายหรือใบด่าง (mosaic) เกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้ใบอ่อน หรือใบที่เพิ่งคลี่มีลักษณะเป็นลายสีเขียวอ่อน หรือสีเขียวอมเหลืองสลับกับสีเขียวเข้มของใบปกติ อาการดังกล่าวปรากฏทั้งใบ โรคนี้เป็นแก่อ้อยที่ปลูกเป็นการค้าในประเทศเรา แทบทุกพันธุ์ แต่พันธุ์ที่เป็นมาก คือ คิว ๘๓

การป้องกันกำจัด

            ๑. ปลูกพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรค
            ๒. ขุดทำลายต้นที่เป็นโรค
            ๓. แช่ท่อนพันธุ์ในน้ำร้อน
            ๔. ปล่อยให้ดินว่างหรือปลูกพืชหมุนเวียน

            ๕. โรคใบขาว (white leaf) เกิดจากเชื้อไมโคพลาสมา (mycoplasma) ของอ้อย ทำให้ใบอ่อนเป็นสีขาวทั้งใบ และลำต้นแคระแกร็น แตกกอคล้ายตะไคร้แต่ไม่มีลำ พบได้ทุกระยะของการเติบโต พบในอ้อยตอมากกว่าอ้อยปลูก

การป้องกันกำจัด

            ๑. ปลูกพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรค
            ๒. แช่ท่อนพันธุ์ในสารละลายเตตราไซคลิน (tetracyclin) ซึ่งมีความเข้มข้น ๒๕๐ ส่วนในล้าน ในน้ำร้อน ๕๔ องศาเซลเซียส เป็นเวลา ๓๐ นาที
            ๓. ขุดทำลายต้นที่เป็นโรค
            ๔. ทำลายแมลงพาหะ

ข. แมลงศัตรูอ้อย

            ในประเทศไทยมีมากกว่า ๒๐ ชนิด แต่ที่เคยระบาดทำความเสียหายอย่างรุนแรง มีเพียงไม่กี่ชนิด ในจำนวนนี้ได้แก่ เพลี้ยหอย เพลี้ยอ่อนอ้อยสีขาว เพลี้ยจักจั่น หนอนเจาะยอด หนอนเจาะลำต้น และยอดหนอนเจาะอ้อยสีชมพู และหนอนเจาะลำต้นอ้อย เป็นต้น อ้อยที่ถูกแมลงเหล่านี้ทำลายจะให้ผลผลิต และคุณภาพต่ำลง การป้องกันกำจัดแมลงเหล่านี้ อาจกระทำได้โดยการใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งนอกจากจะได้ผลไม่คุ้มค่าแล้ว ยังเกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมอีกด้วย นอกจากการใช้ยาแล้วการปฏิบัติอย่างอื่น เช่น การทำความสะอาดแปลง และลอกกาบแห้งขณะอ้อยยืนต้นอยู่ หรือการเผาใบก่อนหรือหลังการเก็บเกี่ยว ก็อาจช่วยลดความเสียหาย ที่เกิดจากแมลงเหล่านี้ได้บ้าง แต่ได้ผลไม่ค่อยจะแน่นอน ในปัจจุบันได้มีการนำเอาวิธีการบริหารแมลง (pest management) มาใช้ การบริหารแมลงศัตรูพืชมิใช่วิธีป้องกันกำจัด แต่เป็นแนวทางที่จะได้มา ซึ่งข้อมูลในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชนั้นๆ ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เกิดผลดีต่อสภาพแวดล้อม และได้รับผลคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเป็นที่ยอมรับในสังคมด้วย ตัวอย่างเช่น การใช้ศัตรูธรรมชาติทั้งที่เป็นแมลงและสัตว์อื่น รวมทั้งโรคของแมลงศัตรูพืชนั้นกำจัดตัวมันเอง ดังนี้เป็นต้น วิธีนี้กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น