เล่มที่ 5
อ้อย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การเตรียมอ้อยพันธุ์และเตรียมท่อนพันธุ์

ก. การเตรียมอ้อยพันธุ์

            การเตรียมพันธุ์อ้อยไว้สำหรับปลูกเอง นับว่ามีความจำเป็นสำหรับชาวไร่ ทั้งนี้เพราะนอกจากจะได้พันธุ์ที่ดีตามเวลาที่ต้องการแล้ว ยังได้อ้อยที่มีความสมบูรณ์ ในขณะเดียวกันช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย วิธีการก็คือ เมื่อต้องการจะปลูกอ้อยพันธุ์ใด ก็หาพันธุ์มาปลูกไว้ล่วงหน้าประมาณ ๖-๗ เดือน เพื่อให้อ้อยเติบโตเต็มที่ ก่อนตัด ๒-๓ สัปดาห์ควรลอกกาบออก เพื่อให้ตาแข็งแรง อ้อยที่ปลูกไว้ทำพันธุ์ในเนื้อที่ ๑ ไร่ จะใช้ปลูกได้ ๑๐-๒๐ ไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะปลูก และอัตราปลูก อย่างไรก็ดีหากจะพิจารณาถึงลักษณะอ้อย ที่เหมาะสำหรับใช้ทำพันธุ์ ก็พอจะกล่าวเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

            ๑. ต้องเป็นอ้อยปลูก (plant cane) ที่ได้รับน้ำและปุ๋ยอย่างเพียงพอ มีการเจริญเติบโตดี ปราศจากโรคและแมลงรบกวน ไม่ควรใช้อ้อยตอ (ratoon cane) ทำพันธุ์

            ๒. ต้องไม่แก่หรืออ่อนเกินไป อายุที่เหมาะสมคือ ๕-๘ เดือน อ้อยที่อ่อนเกินไปมักจะแห้งง่าย และมีความงอกต่ำ โดยเฉพาะถ้าปลูกในฤดูแล้ง และดินมีความชื้นไม่พอ อ้อยที่แก่เกินไปก็มีความงอกต่ำเช่นเดียวกัน

            ๓. ลำต้นควรเป็นขนาดปานกลางถึงขนาดใหญ่ อ้อยที่ลำเล็กเกินไปจะให้ต้นอ่อนที่ไม่ค่อยแข็งแรง ตั้งตัวได้ช้า

            การใช้ส่วนยอดของลำต้นที่ตัดเข้าหีบทำพันธุ์นั้นได้ผลน้อยกว่าอ้อยที่ปลูกไว้ทำพันธุ์โดยเฉพาะ และมักจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับเวลาตัด และเวลาปลูกไม่สัมพันธ์กัน เป็นการไม่สะดวก

            นอกจากนี้การปลูกอ้อยที่ได้ผลดีควรจะปลูกอ้อยหลายๆ พันธุ์ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ในเวลาต่างๆ กัน คือ มีทั้งพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวต้นฤดู กลางฤดู และปลายฤดูหีบ ทั้งนี้เพื่อจะได้อ้อยที่มีคุณภาพดีส่งโรงงานตลอดฤดูหีบ การปลูกอ้อยเพียง ๑-๒ พันธุ์ในพื้นที่จำนวนมากๆ อาจมีปัญหาเรื่องคุณภาพในช่วงเวลาเก็บเกี่ยวที่ยาวนานนับเป็นเดือน

ข. การเตรียมท่อนพันธุ์


            ท่อนพันธุ์ที่ดีจำเป็นสำหรับการงอกที่ดี และการเจริญเติบโตที่ดีด้วย ท่อนพันธุ์ที่ดีต้องมีตาที่สามารถงอกและเจริญเติบโตได้ อย่างน้อยท่อนละหนึ่งตา โดยทั่วไปชาวไร่ใช้ท่อนพันธุ์ที่มี ๒ ตาปลูก แต่ถ้าใช้ท่อนที่มี ๓ ตาจะให้ผลดีกว่าทั้งในด้านความงอก และการเจริญเติบโต โดยเฉพาะในระยะแรก ชาวไร่โดยทั่วไปมัก จะขาดความระมัดระวังเรื่องท่อนพันธุ์ ทำให้ความงอกต่ำ จึงต้องมีการชดเชยโดยใช้ท่อนพันธุ์เกินความจำเป็นทำให้ต้องเสียค่าใช้เพิ่มขึ้นโดยใช่เหตุ การเตรียมท่อนพันธุ์ที่ดีกระทำได้ดังนี้
การตัดอ้อยเพื่อใช้ทำพันธุ์
การตัดอ้อยเพื่อใช้ทำพันธุ์
๑. ตัดท่อนพันธุ์ให้มี ๓ ตา ตัดกึ่งกลางปล้อง
๒. ระวังอย่าให้ตาถูกกระทบกระเทือน มิฉะนั้นอาจไม่งอก
๓. แช่ท่อนพันธุ์ด้วยยาฆ่าเชื้อราทันที ภาย หลังตัดเป็นท่อน
๔. ถ้าสงสัยว่าจะมีโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ต้องแช่น้ำร้อน ๕๐-๕๒ องศาเซลเซียส เป็นเวลา ครึ่งถึง ๑ ชั่วโมง
๕. ถ้าต้องขนส่งพันธุ์อ้อย ควรขนส่งทั้งลำ โดยไม่ลอกกาบ
๖. ไม่ควรลอกกาบท่อนพันธุ์ เพราะจะทำให้ตาอ้อยขาดเครื่องป้องกัน ซึ่งอาจทำให้มีความงอกน้อย
๗. ถ้าต้องเก็บท่อนพันธุ์ที่ได้สับเป็นท่อนแล้วไว้หลายวัน ควรกองไว้ในร่ม คลุมด้วยหญ้าแห้ง ฟาง หรือใบอ้อยแห้ง รดน้ำให้ชุ่ม
            นอกจากปลูกด้วยท่อนพันธุ์แล้ว อาจใช้ชิ้นตา (bud chip) ซึ่งเป็นส่วนของข้อที่มีตาและปุ่มราก ปลูกโดยตรงในไร่หรือชำให้งอก แล้วย้ายปลูกก็ได้