เล่มที่ 5
อ้อย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การเจริญเติบโตของอ้อย

            ก่อนที่จะกล่าวถึงการเจริญเติบโต ใคร่ขออธิบายถึงธรรมชาติบางอย่างของอ้อยเสียก่อน เป็นที่ทราบกันดีว่า ขณะที่อ้อยเจริญเติบโตเป็นปกตินั้น ตาที่อยู่ตามลำต้น (lateral buds) จะไม่เจริญเป็นแขนง (lalas) ทั้งนี้เพราะว่า ส่วนของยอด ที่กำลังเจริญเติบโต (growing point) จะผลิตออกซิน (auxin) และฮอร์โมน (hormone) บางชนิดแล้วส่งลงมาตามลำต้น ซึ่งจะมีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของตาที่อยู่ถัดลงมา ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เรียกว่า "ยอดข่ม" (top dominance หรือ apical dominance) ยอดข่มนี้จะหมดไปเมื่อส่วนยอดอ้อยถูกทำลาย ซึ่งอาจจะเกิดจากสาเหตุใดๆ เช่น การตัดยอด ถูกความร้อนจัด หรือความเย็นจัด โรคหรือแมลงทำลาย ฉีดด้วยสารเคมีบางชนิด ตลอดจนการออกดอก เมื่อยอดข่มหมดไป ตาที่อยู่ส่วนยอดของลำต้นจะเจริญเป็นแขนง และทำหน้าที่แทนยอดต่อไป ลักษณะยอดข่มจะปรากฏ แม้กระทั่งเมื่อใช้ท่อนพันธุ์ ที่มีตามากกว่าหนึ่งตามาปลูก ตาที่อยู่ทางปลายสุดจะงอกออกมาก่อน แล้วทำหน้าที่แทนยอด เป็นผลทำให้ตาที่อยู่ถัดลงมาเติบโตช้าลง ลักษณะยอดข่มจะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น เมื่อใช้ท่อนพันธุ์ที่มีหลายๆ ตาปลูกหรือปลูกทั้งลำ โดยไม่ตัดเป็นท่อนๆ

            ตั้งแต่ปลูกด้วยท่อนพันธุ์จนกระทั่งเก็บเกี่ยว อ้อยมีการเจริญเติบโตตามลำดับ ซึ่งพอจะแบ่งออกได้เป็น ๔ ระยะ คือ

๑. ระยะงอก (germination phase)

            ระยะนี้เริ่มตั้งแต่ปลูกจนกระทั่งหน่อโผล่พันดิน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๒-๓ สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น พันธุ์ การปฏิบัติต่อท่อนพันธุ์ และความหนาของดินที่กลบท่อนพันธุ์ เป็นต้น หน่อที่เกิดจากตาของท่อนพันธุ์ เรียกว่า หน่อแรก (primary shoot) หรือหน่อแม่ (mother shoot) จำนวนท่อนพันธุ์ที่งอกต่อไร่จะเป็นตัวกำหนดจำนวนกออ้อยในพื้นที่นั้น
อ้อยปลูกอายุประมาณ ๓-๔ สัปดาห์
อ้อยปลูกอายุประมาณ ๓-๔ สัปดาห์
๒. ระยะแตกกอ (tillering phase)

            ในระยะงอกนั้นอ้อยแต่ละตาจะงอกขึ้นมาเพียงต้นเดียวเท่านั้น และเมื่อเติบโตพอสมควรจึงจะมีการแตกกอ การแตกกอเป็นลักษณะสำคัญของพืชตระกูลหญ้ารวมทั้งอ้อย เกิดขึ้นเนื่องจาก ตาที่อยู่ส่วนโคนของลำต้นใต้ดินของหน่อแรก เจริญออกมาเป็นหน่อชุดที่สอง และจากหน่อชุดที่สองก็เจริญเป็นหน่อชุดที่สาม หรืออาจจะมีหน่อชุดต่อไปอีก ทำให้มีจำนวนหน่อ หรือลำต้นเพิ่มขึ้น ในระยะนี้อิทธิพลของยอดย่อมมีน้อยมาก จึงไม่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของตาที่อยู่ส่วนโคนได้ ระยะแตกกอเป็นระยะต่อเนื่องกับระยะงอก การแตกกอจะเริ่มเมื่ออายุประมาณ ๑.๕ เดือนเป็นต้นไป แต่ระยะที่มีการแตกกอมากที่สุดอยู่ระหว่าง ๒.๕-๔ เดือน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างตามที่กล่าวแล้ว หน่อที่แตกออกมาทั้งหมดในระยะแตกกอนี้ จะเหลือเพียงประมาณครึ่งหนึ่ง เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว หน่อที่อ่อนแอกว่าจะตายไป เพราะการแข่งขันกัน เพื่อปัจจัยในการเจริญเติบโต เช่น แสงแดด น้ำ และธาตุอาหาร เป็นต้น จำนวนลำต้นต่อกอขณะเก็บเกี่ยว ขึ้นอยู่กับจำนวนหน่อในระยะแตกกอนี้
ปลูกถั่วแซมระหว่างแถวอ้อย
ปลูกถั่วแซมระหว่างแถวอ้อย
๓. ระยะย่างปล้อง (stalk elongation phase)

            เป็นระยะต่อเนื่องกับการแตกกอ ระยะนี้จะมีการเพิ่มขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางและความยาวของปล้องอย่างรวดเร็ว ทำให้อ้อยทั้งลำต้นเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วด้วย ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่อายุประมาณ ๓-๔ เดือน จนถึงอายุประมาณ ๗-๘ เดือน หลังจากนั้นการเจริญเติบโตจะมีน้อยลง และจะเริ่มมีการสะสมน้ำตาลเพิ่มขึ้น ขนาดและความยาวของแต่ละต้นในระยะนี้
มีความสัมพันธ์โดยตรงกับน้ำหนักของแต่ละลำต้น และน้ำหนักแต่ละลำต้น มีผลโดยตรงต่อผลผลิตน้ำหนักของอ้อยทั้งไร่ เมื่อเก็บเกี่ยว

๔. ระยะแก่และสุก
 (maturity and ripening phase)

            ระยะแก่คือระยะที่มีอัตราการเจริญเติบโตช้าลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับระยะต่างๆ ตามที่ได้กล่าวแล้ว เมื่อการเจริญเติบโตเริ่มช้าลง น้ำตาลที่ใบสร้างขึ้นจากการสังเคราะห์แสงก็จะถูกใช้น้อยลง และมีเหลือเก็บสะสมในลำต้นมากขึ้น ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของระยะสุกนั่นเอง การสะสมน้ำตาลจะเริ่มจากส่วนโคนไปหาปลาย ดังนั้นส่วนโคนจึงหวานก่อน และมีความหวานมากกว่าส่วนปลาย การสะสมน้ำตาลจะมีมากขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่งส่วนโคน ส่วนกลาง และส่วนปลาย มีความหวานใกล้เคียงกัน เรียกว่า สุก ถ้าจะเปรียบการแก่ และการสุกของอ้อยกับมะม่วงก็จะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น มะม่วงแก่คือ เมื่อเมล็ดเข้าไคลนั้น ยังไม่หวาน ต้องบ่มต่อไปจนหวานสนิทจึงจะเรียกว่า สุก
อ้อยอายุประมาณ ๘ เดือน
อ้อยอายุประมาณ ๘ เดือน
            สิ่งที่เน้นในที่นี้ก็คือ การเจริญเติบโตและการสะสมน้ำตาลของอ้อยมิได้เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ในขณะที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วนั้น น้ำตาลที่ใบสร้างขึ้นส่วนใหญ่จะถูกใช้ไปเพื่อการเจริญเติบโต จึงเหลือเก็บสะสมไว้ภายในลำต้นเพียงส่วนน้อย เมื่อการเจริญเติบโตช้าลง การสะสมน้ำตาลจึงมีมากขึ้น