ระบบซื้ออ้อยของโรงงาน
การซื้ออ้อยของโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ซื้อโดยอาศัยน้ำหนักอย่างเดียว เรียกว่า ซื้อตามน้ำหนัก กับซื้อโดยอาศัยน้ำหนัก และความหวาน เรียกว่า ซื้อตามคุณภาพ
ก. การซื้อตามน้ำหนัก
วิธีนี้กำหนดราคาตายตัวตามน้ำหนักซึ่งคิดเป็นตัน ส่วนราคาจะเป็นเท่าใดนั้นก็แล้วแต่จะตกลงกันเป็นปีๆ ไป ระหว่างชาวไร่ และโรงงานโดยมีรัฐบาลเป็นตัวกลาง หรือเป็นผู้ชี้ขาด ในรอบ ๓ ปีที่ผ่านมาได้ตกลงราคาตันละ ๓๐๐ บาท วิธีนี้นับว่าสะดวกดี แต่ไม่เป็นธรรม ตามทฤษฎีการซื้อขาย วิธีนี้ไม่ว่าอ้อยจะมีคุณภาพ หรือความหวานเท่าใด ก็จะต้องได้ราคาเท่ากัน แต่ในทางปฏิบัติชาวไร่มักจะถูกโรงงานบางโรง ตัดราคาอ้อยถึงตันละ ๑๐-๒๐ บาท โดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนแต่อย่างใด สาเหตุที่โรงงานมักจะยกเป็นข้ออ้างในการตัดราคาอ้อย มีหลายประการ เช่น อ้อยอ่อน อ้อยยอดยาว อ้อยสกปรก อ้อยไหม้ไฟ หรืออ้อยค้างหลายวัน เป็นต้น การซื้อขายวิธีนี้ชาวไร่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบเสมอ เพราะอ้อยที่โรงงานถือว่ามีคุณภาพต่ำจะถูกตัดราคา แต่มิได้เพิ่มราคาให้สำหรับอ้อยที่มีคุณภาพสูง
โรงงานส่วนใหญ่ในประเทศไทย ๓๘ โรง ในจำนวน ๔๓ โรงที่เปิดทำการในปี ๒๕๒๐-๒๑ ซื้ออ้อยโดยวิธีนี้ แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่า ทางราชการมีโครงการที่จะเปลี่ยนจากการซื้อตามน้ำหนัก ไปเป็นการซื้อตามคุณภาพทั้งประเทศภายในเร็วๆ นี้
ข. ซื้อตามคุณภาพ
การซื้อขายอ้อยถ้าจะกล่าวให้ตรงกับความเป็นจริงก็คือ การซื้อขายน้ำตาลที่มีอยู่ในอ้อยนั้นนั่นเอง ดังนั้นอ้อยที่มีน้ำตาลมากกว่าก็ควรจะได้ราคาสูงกว่า ในทางกลับกัน อ้อยที่มีน้ำตาลน้อยว่าก็ควรจะได้ราคาต่ำกว่า ดังนี้ เป็นต้น จึงนับว่าวิธีการซื้อตามคุณภาพเป็นธรรม ทั้งแก่ชาวไร่ และโรงงาน
ในฤดูหีบปี พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๑ จากโรงงานที่เปิดทำการทั้งหมด ๔๓ โรงมีเพียง ๕ โรงเท่านั้น ที่ซื้ออ้อยตามคุณภาพ ในจำนวนนี้เป็นของรัฐวิสาหกิจเสีย ๔ โรง คือ โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง โรงงานน้ำตาลไทยอุตรดิตถ์ โรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี และโรงงงานน้ำตาลชลบุรี ส่วนอีกโรงหนึ่ง คือ โรงงานน้ำตาลมหาคุณ ซึ่งเป็นของเอกชนตั้งอยู่ที่จังหวัดสิงห์บุรี
การซื้ออ้อยตามคุณภาพโดยทั่วไปมีหลายระบบ แต่ประเทศไทยใช้ระบบ ซีซีเอส (C.C.S.) ซึ่งเป็นระบบของประเทศออสเตรเลีย ซีซีเอส ย่อมาจากคำเต็มว่า Commercial Cane Sugar หมายถึง "ปริมาณของน้ำตาลซูโครสที่มีอยู่ในอ้อยจำนวนหนึ่ง ซึ่งสามารถสกัดออกมาได้ในรูปของน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ โดยโรงงานที่มีมาตรฐานสมมุติซึ่งสูงมาก" ดังนั้น ซีซีเอส จึงเป็นค่า "ตามทฤษฎี" เท่านั้น ทั้งนี้เพราะไม่สามารถที่จะหาโรงงานที่มีประสิทธิภาพร้อยละ ๑๐๐ ได้นั่นเอง
เพื่อให้เข้าใจง่าย ซีซีเอส หมายถึง ค่าร้อยละของน้ำตาลซูโครส ที่ผลิตได้จากอ้อยจำนวนหนึ่ง เช่น อ้อยที่มี ซี ซี เอส ๑๐ หนัก ๑ ตัน (๑,๐๐๐ กิโลกรัม) จะสามารถให้น้ำตาลซูโครสได้สูงสุด ๑๐๐ กิโลกรัม ในทำนองเดียวกันอ้อยที่มี ซีซีเอส ๙ และ ๑๑ หนัก ๑ ตันเท่ากัน จะให้น้ำตาลซูโครสสูงสุด ๙๐ และ ๑๑๐ กิโลกรัม ตามลำดับ
ในการหาค่า ซีซีเอส นั้น จะต้องทราบค่า วิเคราะห์ทางคุณภาพ ๓ อย่างของอ้อย คือ
๑. ค่าบริกซ์
*๑(Brix) ในน้ำอ้อยจากลูกหีบ แรก
๒. ค่าโพล
*๒(Pol) ในน้ำอ้อยจากลูกหีบแรก
๓. ค่าร้อยละของชานอ้อยหรือไฟเบอร์ (Fiber) ในอ้อยนั้น
จากนั้น ก็นำค่าที่ได้มาคำนวณหา ซีซีเอส ต่อไปตามลำดับดังนี้
ก. หาค่าบริกซ์ในอ้อย
จากการวิเคราะห์ทางคุณภาพอ้อย ตามข้อ (๑) นั้นได้ค่าบริกซ์ในน้ำอ้อย ซึ่งจะต้องเปลี่ยน เป็นค่าบริกซ์ในอ้อย จากสูตร
บริกซ์ในอ้อย = บริกซ์ในน้ำอ้อย x ( ๑๐๐-(ไฟเบอร์+๓)) / ๑๐๐
ข. หาค่าโพลในอ้อย
ค่าโพลที่ได้จากการวิเคราะห์คุณภาพอ้อย เป็นค่าโพลในน้ำอ้อย ต้องเปลี่ยนเป็น ค่าโพลในอ้อย จากสูตร
โพลในอ้อย = โพลในน้ำอ้อย x ( ๑๐๐-(ไฟเบอร์+๕)) / ๑๐๐
ค. หาค่าสิ่งเจือปนในอ้อย
จากสูตร
สิ่งเจือปนในอ้อย = บริกซ์ในอ้อย - โพลในอ้อย
ง. หาค่า ซีซีเอส
จากสูตร
ซีซีเอส = โพลในอ้อย - (สิ่งเจือปนในอ้อย / ๒ )
หรืออาจจะใช้ค่าที่ได้จากการวิเคราะห์ทาง คุณภาพของอ้อยตามที่กล่าวข้างบนมาคำนวณ ซีซี เอส โดยตรง จากสูตร การซื้ออ้อยตามซีซีเอสนี้ ราคาต่อตัน ของอ้อยจะผันแปรไปตามค่าซีซีเอสของอ้อย โดยทั่วไปโรงงานกำหนด ซีซีเอส ๑๐ เป็นมาตรฐาน ส่วนราคานั้นเป็นไปตามความตกลงที่ได้กล่าวแล้ว ในเรื่องการซื้ออ้อยตามน้ำหนัก เช่น ถ้าตกลงราคาอ้อยตันละ ๓๐๐ บาท โรงงานจะจ่ายราคาอ้อย ที่มีซีซีเอส ๑๐ ตันละ ๓๐๐ บาท เท่ากับที่ซื้อตามน้ำหนัก และเมื่อซีซีเอสเพิ่มขึ้น หรือลดลง ราคาต่อตันของอ้อยก็จะเพิ่มขึ้น หรือลดลงตามส่วน การกำหนดราคาแต่ละหน่วยของซีซีเอสที่สูงหรือต่ำกว่ามาตรฐานนั้น ทางโรงงานเป็นผู้กำหนด เท่าที่ปรากฏ เมื่อซีซีเอสสูงหรือต่ำกว่ามาตรฐาน ๑ หน่วย เช่น ซีซีเอส ๑๑ หรือ ๙ ราคาอ้อยก็จะสูงขึ้น หรือต่ำลงตันละ ๑๐-๒๐ บาท ดังนี้เป็นต้น
* ๑ บริกซ์ หมายถึงค่าร้อยละโดยน้ำหนักของของแข็งที่ละลายน้ำ (น้ำตาลและสิ่งเจือปน) ที่มีอยู่ในอ้อยนั้น
* ๒ โพล (pol หรือ polarization) เป็นค่าร้อยละโดยน้ำหนักโดยประมาณ แต่ใกล้เคียงของน้ำตาลซูโครสที่วัดด้วยโพลาริมิเตอร์ (polarimeter)