ฤดูปลูก
การเลือกเวลาปลูกที่เหมาะสมนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะเวลาปลูกมีอิทธิพลถึงการเตรียมดิน การปฏิบัติรักษา การเจริญเติบโต
และผลผลิต ตลอดจนเวลาตัด หรือเก็บเกี่ยว ด้วยปัจจัยสำคัญที่ควบคุมเวลาปลูกในแหล่งที่ไม่มีการชลประทาน คือ ฝน ในบริเวณที่มีการชลประทานอาจปลูกได้ตลอดปี อย่างไรก็ดี การปลูกอ้อยในประเทศไทยส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝน ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น ๒ พวก คือ
อ้อยพันธุ์ เอฟ ๑๖๐ พร้อมที่จะเก็บเกี่ยว
๑. ปลูกต้นฝน
ปลูกในราวเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเริ่มต้นของฤดูฝน ชาวไร่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ส่วนมากนิยมปลูกในช่วงเวลาดังกล่าว การปลูกต้นฝนมักประสบปัญหาวัชพืช ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ในแง่ของการใช้น้ำ การปลูกต้นฝน ไม่สามารถใช้น้ำฝนได้อย่างเต็มที่ เพราะในระยะ ๑-๓ เดือนแรก ซึ่งอ้อยยังเล็กอยู่นั้น ต้องการน้ำน้อย ฝนที่ตกลงมาส่วนมากเกินความต้องการของอ้อย จึงสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ครั้นพอถึงระยะที่อ้อยต้องการน้ำมาก คือ เมื่ออายุ ๔-๘ เดือน ก็ใกล้เวลาที่ฝนจะหมดแล้ว ทำให้มีเวลาในการใช้น้ำสั้น มีการเจริญเติบโตน้อย และให้ผลผลิตต่ำเพราะน้ำไม่พอ นอกจากนี้การปลูกต้นฝนไม่สามารถตัดได้ตอนต้นฤดูหีบ เพราะอ้อยยังไม่แก่ จึงต้องตัดตอนปลายฤดูหีบ ดังนี้เป็นต้น
๒. ปลูกปลายฝน
ปลูกในราวเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธุ์ ชาวไร่ในภาคตะวันออก คือ ชลบุรี และระยอง ได้ถือปฏิบัติกันมานานแล้ว ส่วนชาวไร่ในภาคอื่นๆ โดยเฉพาะภาคกลางกำลังให้ความสนใจเพิ่มขึ้นโดยลำดับ การปลูกปลายฝนมีข้อดี คือ ลดปัญหาวัชพืช อ้อยได้ใช้น้ำฝนเต็มที่ และมีเวลาในการเจริญเติบโตนานกว่า จึงให้ผลผลิตสูงกว่า นอกจากนั้น ยังสามารถตัดอ้อยได้ตั้งแต่ต้นฤดูหีบอีกด้วย อย่างไรก็ดี ข้อสำคัญในการปลูกปลายฝนนั้น จะต้องมีการเตรียมดินให้ดีกว่าการปลูกต้นฝน