เล่มที่ 5
อ้อย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
แหล่งปลูกในประเทศไทย

            การปลูกอ้อยมีอยู่ทุกภาคยกเว้นภาคใต้ ทั้งนี้ เพราะสภาพอากาศภาคใต้ไม่เหมาะแก่การปลูกอ้อย กล่าวคือ มีฝนตกชุก และมีอากาศร้อนตลอดปี ซึ่งสภาพดังกล่าวทำให้อ้อยไม่หวาน นอกจากนี้อาจจะเป็นเพราะว่าภาคใต้มีพืชอื่นที่ให้ผลดีกว่า เช่น ยาง พารา และกาแฟ เป็นต้น

กออ้อยซึ่งประกอบด้วยลำต้น
อายุต่างๆ กัน

             สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้แบ่งเขตการปลูกอ้อยออกเป็น ๔ ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่ปลูกอ้อย ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑-๒๒ รวม ๓.๑๓ ล้านไร่ และได้ผลผลิตอ้อยทั้งสิ้น ๒๐.๒๔ ล้านตัน เฉลี่ยผลผลิตอ้อยไร่ละ ๖.๔๖ ตัน สาเหตุที่ผลผลิตตกต่ำ เนื่องจากเกิดภาวะแห้งแล้งมาก ประกอบกับมีโรคและแมลงระบาดด้วย จังหวัดที่ผลิตอ้อยในแต่ละภาค เรียงตามปริมาณการผลิตมากไปหาน้อย มีดังนี้

            ภาคกลาง ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครปฐม เพชรบุรี อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี เพชรบูรณ์ และสระบุรี ผลิตอ้อยได้รวมกันคิดเป็นร้อยละ ๖๖.๑๖ ของทั้งประเทศ

            ภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และจันทบุรี ผลิตอ้อยได้รวมกันคิดเป็นร้อยละ ๑๗.๕๘ ของทั้งประเทศ

            ภาคเหนือ ได้แก่ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ ลำปาง สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และเชียงใหม่ ผลิตอ้อยได้รวมกันคิดเป็นร้อยละ ๙.๓๙ ของทั้งประเทศ

            ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น บุรีรัมย์ นครพนม กาฬสินธุ์ สกลนคร ชัยภูมิ มหาสารคาม เลย และหนองคาย ผลิตอ้อยได้รวมกันคิดเป็นร้อยละ ๖.๘๗ ของทั้งประเทศ