พันธุ์อ้อย
พันธุ์อ้อยที่ปลูกเป็นการค้าในบ้านเราแบ่งออกเป็น ๒ พวกคือ อ้อยเคี้ยว (chewing cane) พวกหนึ่ง ส่วนอีกพวกหนึ่งเป็นอ้อย สำหรับทำน้ำตาล (industrial cane)
๑. อ้อยเคี้ยว
ได้แก่ อ้อยที่มีเปลือกนิ่ม ชานนิ่ม มีความหวานปานกลางถึงค่อนข้างสูง ปลูกเพื่อหีบเอาน้ำอ้อยสำหรับบริโภคโดยตรง หรือใช้สำหรับรับประทานสด อ้อยเคี้ยวที่นิยมปลูกกันมีหลายพันธุ์ คือ พันธุ์แรก ได้แก่ อ้อยสิงคโปร์ หรืออ้อยสำลีมีชานนิ่มมาก ลำต้นสีเหลืองอมเขียว เมื่อหีบแล้วได้น้ำอ้อยสีสวยน่ารับประทาน พันธุ์ที่สอง ได้แก่ พันธุ์มอริเชียสลำต้นสีม่วงแดง ไม่เหมาะสำหรับทำน้ำอ้อย จึงใช้สำหรับบริโภคโดยตรง อ้อย พันธุ์นี้เป็นที่นิยมมาก ส่วนใหญ่ปลูกในจังหวัดราชบุรี และนครปฐม อีกพันธุ์หนึ่ง ได้แก่ พันธุ์บาดิลาสีม่วงดำ แม้ว่าจะเป็นอ้อยเคี้ยว แต่ไม่ค่อยนิยมปลูกกัน เพราะโตช้า และปล้องสั้นมาก อ้อยทั้ง ๓ พันธุ์นี้จัดเป็นพวกอ้อยดั้งเดิม ซึ่งมีถิ่นกำเนิดแถบเกาะนิวกินี นอกจากนี้ก็มีอ้อยน้ำผึ้ง และอ้อยขาไก่ ซึ่งยังคงมีปลูกในที่บางแห่ง อย่างไรก็ดีอ้อยชนิดอื่นๆ นอกจากที่กล่าวนี้ก็สามารถใช้เป็นอ้อยเคี้ยวได้ หากมีความหวานพอ และไม่แข็งจนเกินไป
อ้อยพันธุ์ พินดาร์
๒. อ้อยทำน้ำตาล
อ้อยพวกนี้เป็นอ้อยลูกผสมซึ่งเกิดขึ้นโดยนักผสมพันธุ์อ้อยของประเทศต่างๆ ทั่วโลก พันธุ์อ้อยเหล่านี้ ได้ถูกนำเข้าไปยังประเทศต่างๆ สำหรับประเทศไทยได้มีการนำพันธุ์อ้อยลูกผสมเข้ามาจากต่างประเทศ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมประมาณ ๒๒๐ พันธุ์ ในจำนวนนี้มีเพียง ๒๐ พันธุ์เท่านั้นที่ปลูกเป็นการค้าอยู่ในภาคต่างๆ พันธุ์เหล่านี้ได้แก่ บี ๔๐๙๘, ซีบี ๓๘-๒๒, ซีโอ ๔๑๙, ซีโอ ๔๒๑, เอฟ ๑๐๘, เอฟ ๑๓๔, เอฟ ๑๓๗, เอฟ ๑๓๘, เอฟ ๑๔๐, เอฟ ๑๔๘, เอฟ ๑๕๒, เอฟ ๑๕๓, เอฟ ๑๕๔, เอฟ ๑๕๖, เอช ๔๘-๓๑๖๖ แอลพี (ลำปาง) ๒๔๙๕/๔, เอ็นซีโอ ๓๑๐, พีโอเจ ๒๘๗๘, พินดาร์, คิว ๘๓ และแร็กนาร์
จากตัวเลขที่ได้จากสำนักงานอ้อยและน้ำตาล ทราย ปรากฏว่า พันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุดคิดตาม เนื้อที่ปลูกในปี พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๑ คือ เอฟ ๑๔๐ ปลูกร้อยละ ๒๖ รองลงไปได้แก่ คิว ๘๓, เอฟ ๑๕๓, พินดาร์, เอฟ ๑๕๖, เอฟ ๑๓๗, เอช ๔๘-๓๑๖๖ เอฟ ๑๓๔, และ เอฟ ๑๔๘ คิดเป็นร้อยละ ๑๘, ๑๖, ๘, ๗, ๖.๗, ๖, ๓ และ ๒ ตามลำดับ ส่วนพันธุ์ อื่นๆ นอกจากที่กล่าวนี้ปลูกรวมกันคิดเป็นเนื้อที่ ร้อยละ ๗.๓ อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับเรื่องพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากนี้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ พันธุ์ใดที่ให้ผลดีก็นิยมปลูกมากขึ้น พันธุ์ใดที่ให้ผลไม่ดีก็ลด พื้นที่ลงหรือเลิกปลูกไปดังนี้เป็นต้น