โรคตาบอดจากการขาดวิตามินเอ ผลจากการขาดวิตามินเอ หน้าที่ที่สำคัญของวิตามินเอ คือ จำเป็นต่อการเห็น จอตา ซึ่งทำหน้าที่ด้านการเห็นนั้น มีเซลล์อยู่ ๒ ชนิด ที่เกี่ยวกับการรับแสง ชนิดแรกเรียกว่า "ร็อด" (rod) ซึ่งทำให้เราเห็นในที่สลัว อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า "โคน" (cone) ซึ่งทำให้เราเห็นในที่สว่าง และเห็นสีสันด้วย การทำงานของเซลล์ ๒ ชนิดนี้ ต้องพึ่งวิตามินเอ ดังนั้น เมื่อร่างกายขาดวิตามินเอ อำนาจการเห็นจะเสื่อมสมรรถภาพลง โดยเฉพาะถ้าเกิดในเด็กจะถึงขั้นตาบอดได้ อาการเริ่มแรก คือ ตาบอดแสง โดยเด็กจะมีความลำบากในการเห็น เมื่ออยู่ในที่แสงสลัวหรือมืด ความสามารถในการแยกแยะสีบางชนิดเลวลง การขาดวิตามินเอยังมีผลทำให้การเจริญเติบโตชะงักงัน และมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุในอวัยวะต่างๆ เช่น เยื่อตาขาว กระจกตา เยื่อบุทางเดินหายใจ เป็นต้น โดยเซลล์เยื่อบุต่างๆ เหล่านี้สร้างโปรตีนบางชนิดได้น้อยลง รูปร่างเซลล์เปลี่ยนไปจากเดิม มีการทับถมของเซลล์ ทำให้หนาตัวขึ้น เช่น ถ้าเป็นที่ผิวหนัง แทนที่ผิวหนังจะราบเรียบ ก็มีลักษณะขรุขระคล้ายหนังคางคก สำหรับที่ส่วนหน้าของลูกตา เซลล์ของเยื่อตาขาวจะหยุดสร้างสารเมือก ทำให้ตาขาวแห้ง และเยื่อตาขาวส่วนที่อยู่ด้านนอกของกระจกตาจะมีลักษณะเป็นแผ่นฟองมันๆ ซึ่งเรียกว่า เกล็ดกระดี่ มีการทำลายของเซลล์ที่บุกระจกตา ทำให้ตาดำแห้ง เกิดการอักเสบ ถ้าเป็นรุนแรงก็ถึงขั้นเน่าเปื่อย ตาดำทะลุ และมีผลทำให้ตาบอดได้ | |
เกล็ดกระดี่ที่เยื่อตาขาว เนื่องจากการขาดวิตามินเอ | โรคขาดวิตามินเอนี้ พบมากในเด็กที่อยู่ในประเทศด้วยพัฒนาและกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทยด้วย ได้มีการคาดคะเนว่า เด็กทั่วโลกที่ตาบอด จากการขาดวิตามินเอนั้น มีไม่ต่ำกว่า ๒๕๐,๐๐๐ คนต่อปี การขาดวิตามินเอ มักพบในเด็กที่เป็นโรคขาดโปรตีนและแคลอรี จึงยิ่งทำให้อัตราตายสูงขึ้น ได้มีผู้รายงานว่า เด็กที่มีตาอักเสบจากการขาดวิตามินเอ เมื่อได้รับการรักษาในโรงพยาบาลนั้น ร้อยละ ๒๕ ของเด็กที่รอดตายจะตาบอด ร้อยละ ๕๐-๖๐ ยังพอเห็นอยู่บ้าง เพียงร้อยละ ๑๕-๒๕ ที่เห็นได้ตามปกติ |
สาเหตุของการขาดวิตามินเอ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไทยในชนบท ขาดวิตามินเอนั้น เกิดจากได้วิตามินเอ และแคโรตีน จากอาหารไม่เพียงพอ นอกจากนี้ การดูดซึมของวิตามินเอยังต้องอาศัยไขมัน และน้ำดี ดังนั้นคนที่กินไขมันน้อย จะมีผลทำให้การดูดซึมของวิตามินเอเลวลง ภาวะที่ขาดโปรตีนและแคลอรี จะทำให้การสร้างเรทินอลไบน์ดิงโปรตีน (retinol binding protem) ลดลง โปรตีนดังกล่าวนี้เป็นโปรตีนพิเศษ ทำหน้าที่ขนถ่ายวิตามินออกจากตับไปสู่ตา ดังนั้น เด็กที่เป็นโรคขาดโปรตีนและแคลอรี เมื่อขาดวิตามินเอด้วยอาการทางตาจะรุนแรงมาก ภาวะที่ร่างกายต้องการวิตามินเอมากกว่าปกติ เช่น โรคติดเชื้อ ถ้าได้วิตามินเอไม่พอ ก็เป็นโรคขาดวิตามินเอได้ การป้องกันการขาดวิตามินเอ เนื่องจากเด็กเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินเอมากที่สุด และเมื่อเกิดแล้วมักรุนแรงถึงขั้นตาบอด องค์การอนามัยโลกจึงสนับสนุนให้มีการป้องกันการขาดวิตามินเอในท้องถิ่นที่มีปัญหานี้ โดยให้มีการป้อนวิตามินเอในขนาดที่สูงกว่าความต้องการของร่างกาย เช่น ในเด็กอายุต่ำกว่า ๑ ปี ให้กินวิตามินเอในขนาด ๑ แสน ไอ.ยู. (I.U. = international unit) ถ้าอายุมากกว่า ๑ ปี ให้กินขนาด ๒ แสน ไอ.ยู. เพียงครั้งเดียว ระดับที่ให้นี้สามารถป้องกันการขาดวิตามินเออยู่นาน ๓-๖ เดือน สิ่งที่กล่าวมาแล้วเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่การแก้ปัญหาระยะยาวต้องทำควบคู่ไปด้วย เช่น ส่งเสริมให้ปลูกผักสวนครัว ให้ได้อาหารที่ให้แคโรตีนที่ดี และต้องนำเอาอาหารเหล่านั้นมากินในชีวิตประจำวันด้วย |