โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ พบมากในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่แล้ว เกิดในเด็กอายุต่ำกว่า ๖ ปี ผู้ป่วยที่มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะอาจมีอาการปัสสาวะขัด เจ็บเวลาถ่ายปัสสาวะ น้ำปัสสาวะอาจมีลักษณะขุ่น บางรายมีลักษณะเป็นสีน้ำล้างเนื้อหรือเป็นเลือด บางรายถ่ายออกมามีก้อนนิ่วเล็ก ๆ หรือกรวดทรายปนกับน้ำปัสสาวะ ผู้ป่วยที่เป็นอยู่นานจนก้อนนิ่วโตแล้ว ก็จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนนิ่วออก
ก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะที่ได้จากการผ่าตัดผู้ป่วยที่โรงพยาบาล
จากการศึกษาพบว่าโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะนี้ เกิดจากการได้อาหารที่ขาดฟอสฟอรัสและขาดโปรตีน โดยเด็กที่เกิดมาในชนบทของภาคอีสานมักได้ข้าวย้ำภายในอายุ ๔ สัปดาห์แรกหลังคลอด ทำให้เด็กได้น้ำนมแม่ ซึ่งเป็นแหล่งให้ฟอสฟอรัส และโปรตีนน้อยลง กินอาหาร ซึ่งให้ผลึกออกซาเลต (oxalate) มาก เช่น ผักโขม ผักแพว ผักระโดน ร่วมกับการขาดฟอสฟอรัสและโปรตีนที่กล่าวแล้ว ยิ่งทำให้ผลึกออกซาเลตจับตัวเป็นก้อนนิ่วได้ง่ายขึ้น
การป้องกันโรคนิ่งในกระเพาะปัสสาวะ
มีความสำคัญทั้งต่อประชาชนเอง และต่อประเทศชาติ ประโยชน์ต่อประชาชน คือ ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการของโรคนิ่งในกระเพาะปัสสาวะ ประโยชน์ต่อประเทศชาติ คือ ไม่ต้องเสียงเงินค่ารักษาและผ่าตัดผู้ป่วยโรคนี้ วิธีการป้องกันที่เร่งด่วน คือ ให้ฟอสฟอรัสเสริมแก่ประชาชนที่อยู่ในถิ่นที่เป็นโรคนี้ ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาว ต้องให้ความรู้ด้านโภชนาการแก่ประชาชน ให้กินอาหารที่มีฟอสฟอรัส และโปรตีนมากขึ้น ร่วมกับการกินอาหารที่ให้ผลึกออกซาเลตให้น้อยลง