ไข้ไทฟอยด์และพาราไทฟอยด์ บางทีเรียกกันว่า ไข้รากสาดน้อย และไข้รากสาดเทียม ไข้รากสาดน้อย และไข้รากสาดเทียมเป็นโรคที่มีลักษณะอาการคล้ายคลึงกัน มีความแตกต่างกันตรงที่ไข้รากสาดน้อยจะมีอาการรุนแรงกว่า เชื้อต้นเหตุ เชื้อที่ก่อโรคเป็นเชื้อบัคเตรี ไข้ไทฟอยด์เกิดจากเชื้อที่มีชื่อว่า ซัลโมเนลลา ไทฟี (Salmonella typhi) ไข้พาราไทฟอยด์เกิดจากเชื้อที่มีชื่อว่า ซัลโมเนลลา พาราไทฟี เอ หรือ บี หรือ ซี (Salmonella paratyphi A, B, C) ระยะฟักตัว ตั้งแต่ได้รับเชื้อเข้าไป ประมาณ โดยเฉลี่ย ๑-๒ สัปดาห์ ก็จะเกิดอาการของโรค ระยะ ฟักตัวนี้อาจเร็วได้ถึง ๓ วัน และนานถึง ๓๘ วัน ลักษณะอาการ เป็นโรคติดเชื้อที่มีลักษณะอาการที่ผู้รับเชื้อจะมีไข้ ซึ่งมักจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นวันละเล็กวันละน้อย จนถึง ๔๐ องศาเซลเซียส ภายใน ๑ สัปดาห์ มีความรู้สึกคล้ายกับจะหนาวสั่น ไม่สบาย เมื่อยตามเนื้อตามตัว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ลิ้นเป็นฝ้าสกปรก ท้องอืด อาจมีอาการท้องผูก หรือถ่ายอุจจาระเหลว จนถึงอุจจาระร่วงก็ได้ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการที่พบได้เสมอคือ อาการปวดหลัง ต่อมาไข้มักจะสูงลอย อาจมีอาการไอ และมีหลอดลมอักเสบร่วมด้วย ชีพจรเต้นช้า ในผู้ป่วยผิวขาวจะพบว่า มีจุดแดงๆ เกิดขึ้นบริเวณอกและท้อง แต่ไม่ค่อยได้พบในคนไทย ผู้ป่วยมักมีอาการซึม แต่บางรายอาจมีอาการเอะอะเพ้อคลั่งได้ บางรายอาจมีอาการหมดสติ ผมร่วมทั้งศีรษะ ในรายที่ไม่ได้รับการรักษา ไข้จะสูงลอย ต่อไปอีก ๑-๒ สัปดาห์ ถ้าหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไข้จะค่อยๆ ลดลง จนเป็นปกติ ในปลายสัปดาห์ที่ ๔ ของโรค ถ้าหากมีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยอาจถึงแก่กรรม ได้ โรคนี้จะก่อให้เกิดเป็นแผลในลำไส้ ภาวะแทรกซ้อน ที่รุนแรง ได้แก่ ลำไส้ทะลุ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และเป็นฝีในสมอง เป็นต้น การติดต่อ ในขณะที่ผู้ป่วยเป็นโรค จะตรวจพบเชื้อโรคได้ในกระแสเลือด ไขกระดูก ปัสสาวะ น้ำดี และอุจจาระ ซึ่งออกมาจากแผล ที่มีอยู่ในลำไส้ ในระยะที่เริ่มทุเลา และฟื้นไข้ จะตรวจพบเชื้อได้มากในอุจจาระ ซึ่งจะเป็นแหล่งสำคัญในการแพร่โรคต่อไป เมื่อหายจากโรค เชื้อโรคจะค่อยๆ หายไปจากอุจจาระ ส่วนมากภายใน ๒ สัปดาห์หลังจากที่หายจากโรค บางรายอาจจะมีเชื้อในอุจจาระต่อไปได้อีก จึงทำให้มีโอกาสแพร่โรคต่อไป โดยที่ผู้นั้นจะไม่สำแดงอาการของโรคเลย รายเช่นนี้เรียกว่า พาหะอมโรค บางคนอาจจะแพร่เชื้อต่อไปได้เป็นเวลาหลายเดือน แล้วก็หายไป หรือเป็นพาหะอมโรคอยู่ได้ชั่วคราว มีบางรายเป็นพาหะอมโรคได้ตลอดชีวิตก็มี โรคไข้รากสาดน้อย มักจะมีอาการแรงกว่าไข้รากสาดเทียม ทั้งสองโรคนี้ติดต่อโดยการรับเชื้อโรคเข้าไปทางปาก ซึ่งอาจเกิดโดยตรงจากการรับเชื้อโรคเข้าไปทางปาก ซึ่งอาจเกิดโดยตรงจากการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือพาหะอมโรค หรืออาจได้รับเชื้อที่ติดอยู่กับอาหารได้แก่ น้ำ นม ผัก หอย กุ้ง ฯลฯ นอกจากนี้ยังพบว่า แมลงวันและแมลงสาบ ก็อาจเป็นสื่อ นำเชื้อโรคมาสู่คนได้ มูลจิ้งจกที่เปียกก็มีผู้พบว่า มีเชื้อไข้ไทฟอยด์อยู่ได้ ดังนั้น ถ้าหากได้รับเชื้อ โดยการกินเข้าไป ก็จะทำให้เป็นโรคได้ การป้องกันและควบคุมโรค ก. การป้องกันล่วงหน้า ๑. จะต้องจัดเรื่องสุขาภิบาลเกี่ยวกับน้ำบริโภค และอาหาร ให้เก็บอาหารในที่มิดชิด อย่าให้แมลงวัน แมลงสาบ หรือจิ้งจกไต่ตอม ควรบริโภคอาหารที่สะอาด และต้มสุก ๒. ตรวจควบคุมร้านอาหาร ผู้ปรุง ผู้จำหน่าย และผู้บริการหากพบว่าผู้ใดเป็นพาหะของโรค ควรหาทางแก้ไข ๓. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน ทำลายแมลงวัน และแมลงสาบ | |
การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์ | ๔. ทำการฉีดหรือให้วัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง วัคซีนที่ใช้ อาจจะเป็นชนิดฉีด หรือชนิดกิน |
ข. การป้องกันเมื่อเกิดการระบาดหรือเมื่อมีผู้ป่วย อาจจะต้องแยกผู้ป่วยไว้ระยะหนึ่ง จัดการทำลายเชื้อที่อยู่บริเวณรอบๆ ที่ผู้ป่วยอาศัย โดยเฉพาะเชื้อในอุจจาระ และปัสสาวะ และรักษาผู้ป่วย จนกระทั่งไม่สามารถแพร่เชื้อทางอุจจาระได้อีกต่อไป |