เล่มที่ 10
โรคติดต่อและโรคเขตร้อน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โรคบิด

            โรคบิด หมายถึง โรคที่ทำให้เกิดอาการใน ระบบทางเดินอาหาร อันได้แก่ ปวดท้อง ท้องเดิน ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง อาจจะถ่ายครั้งละมากๆ หรือน้อยก็ได้ อุจจาระจะมีลักษณะพิเศษ คือ มีมูกปน เลือด หรือในบางครั้งจะมีมูกอย่างเดียว และมีอาการ ปวดถ่วงบริเวณทวารหนัก

เชื้อบิดอะมีบาซึ่งเกิดจากเชื้อปรสิตเซลล์เดียว

เชื้อต้นเหตุ

โรคบิดเกิดจากเชื้อ ๒ ประเภทดัง ต่อไปนี้คือ

            ๑. บิดอะมีบา เกิดจากเชื้อปรสิตเซลล์ เดียว ซึ่งมีชื่อว่า อะมีบา มีชื่อเต็มว่า เอ็นตามีบา ฮิสโทไลติกา (Entamoeba histolytica) ๒. บิดบะซิลลารี เกิดจากเชื้อบัคเตรีซึ่งจัด ไว้ในสกุลชิเกลลา (Shigella) มีอยู่หลายชนิด ซึ่งแบ่ง ออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่ทำให้เกิดอาการ รุนแรงเรียกว่า กลุ่มชิเกลลา ดีเซ็นเทอเรีย (Shigella dysenteria) ส่วนกลุ่มที่ทำให้เกิดอาการอ่อนเรียกว่า ชิเกลลา พาราดีเซ็นเทอเรีย (Shigella paradysenteria) บิดประเภทนี้บางครั้งเรียกว่า บิดชิเกลโลซิส (shigellosis หรือ shigella dysentery)
ต่อไปนี้จะกล่าวถึงเฉพาะเรื่องบิดชิเกลลา สำหรับบิดอะมีบานั้น จะกล่าวถึงในเรื่องของโรคจากสัตว์เซลล์เดียว

ระยะฟักตัว 

            หลังจากรับเชื้อเข้าไปประมาณ ๑- ๗ วัน จะเริ่มมีอาการของโรค โดยเฉลี่ยแล้วระยะ ฟักตัวของโรคจะสั้นกว่า ๔ วัน

ลักษณะอาการ

            ผู้ป่วยที่เป็นบิดลบะซิลลารีนั้น จะเริ่มป่วยทันทีโดยมีอาการอุจจาระร่วง มีอาการปวด ถ่วงทวารหนัก อุจจาระเป็นน้ำ มีมูกหรือเลือดปน และถ่ายบ่อยๆ นอกจากนี้ยังมีอาการไข้สูงอีกด้วย บาง รายที่มีอาการอ่อนจะมีอาการต่างๆ ดังกล่าวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

การติดต่อ

            เชื้อโรคจะแพร่ออกมากับอุจจาระ ของผู้ป่วย เชื้อนี้จะลงไปปนเปื้อนอยู่กับน้ำ และอาหารได้ เชื้ออาจติดไปกับมือของผู้ป่วย โดยการปนเปื้อนโดยตรง หรือโดยแมลงวันเป็นพาหะนำไป ระหว่าง ที่ป่วยจะมีเชื้อออกมากับอุจจาระตลอดเวลา และเชื้อจะหมดไป ภายในเวลา ๒-๓ สัปดาห์ ในบางรายอาจพบว่า เป็นพาหะอมโรคได้ แต่น้อยกว่ากรณีของไข้ไทฟอยด์

            โรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นอยู่ในเขตร้อน โดย เฉพาะประเทศไทยของเรามีรายงานผู้ป่วยทุกๆ ท้องที่ ทุกๆ ปี ทั้งนี้เนื่องจาก การสุขาภิบาลเกี่ยวกับอาหาร และน้ำบริโภคยังไม่ดีพอ

            การป้องกันและควบคุมโรค

            การป้องกันล่วงหน้าและการป้องกันเมื่อมีผู้ป่วย ให้ดำเนินการเช่น เดียวกับไข้ไทฟอยด์ เว้นแต่ว่า โรคบิดยังไม่สามารถป้องกัน โดยการฉีดวัคซีน เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนที่มีคุณภาพดี