โรคคุดทะราด
คุดทะราดเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง มีอาการเป็น แผลตามผิวหนัง พบได้ทั่วร่างกาย เป็นๆ หายๆ
เชื้อต้นเหตุ
เกิดจากบัคเตรีที่มีชื่อว่า ทรีโพนีมา เพอร์เทนูอี (Treponema pertenue)
ระยะฟักตัว
นานประมาณ ๒ สัปดาห์ ถึง ๓ เดือน
ลักษณะอาการ
ภายหลังจากที่เชื้อโรคเข้าสู่ ร่างกายทางบาดแผลแล้วประมาณ ๓-๖ สัปดาห์ จะเกิด โรคระยะแรก คือ มีตุ่มนูนคล้ายหูดที่ผิวหนัง ตุ่มนี้ เรียกว่า ตุ่มแม่ (mother yaw) ต่อมาอีกหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน ตุ่มนี้จะค่อยๆ มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นตุ่ม นูนแดง หรือเป็นแผล หรือโตคล้ายดอกกะหล่ำปลี ต่อมน้ำเหลืองซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้แผลอาจจะอักเสบและ บวมโต ในระยะแรก ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการไข้ แผลคุดทะราดจะพบได้ทั่วร่างกาย มีตุ่มนูนและผิวหนังหนา ขึ้น พบที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดมาก จนเดินหรือทำงานไม่ได้ ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา ส่วนใหญ่จะหายเองได้ในระยะแรก มีประมาณร้อยละ ๑๐ ที่ไม่หายและเข้าสู่ระยะหลังของโรค มีการทำลาย ของผิวหนังและกระดูก ทำให้เกิดความพิการ โรคคุดทะราดทั้งระยะแรกและระยะหลังอาจหายเอง และอาจกลับเป็นใหม่ได้
การติดต่อ
เชื้อโรคคุดทะราด จะพบอยู่ตามบาดแผลที่ผิวหนัง หรืออยู่ที่เยื่อบุช่องปากและจมูก ติดต่อได้โดยการสัมผัสกับน้ำเหลือง น้ำหนองที่บาดแผล คุดทะราดโดยตรง หรือติดจากของใช้ที่แปดเปื้อนเชื้อ หรืออาจติดโดยแมลงนำเชื้อโรคมาเข้าสู่ร่างกายทางรอย ถลอกหรือบาดแผล ผู้ป่วยที่มีบาดแผลเป็นๆ หายๆ จะแพร่เชื้ออยู่ได้นานหลายปี
การป้องกันและควบคุมโรค
ทำได้โดยให้การ ศึกษาแก่ประชาชน ให้คำแนะนำเกี่ยวกับอนามัยส่วนบุคคล มีการเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้การรักษาผู้ป่วยและผู้ที่สัมผัสโรค