เล่มที่ 10
โรคติดต่อและโรคเขตร้อน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โรคเรื้อน

            โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง เกิดขึ้นเฉพาะในคนเท่านั้น โรคเรื้อนมีชื่อพ้องหลายชื่อ เช่น ขี้ทูด กุฏฐัง หูหนาตาเร่อ และไทกอ เป็นต้น

เชื้อต้นเหตุ

            เป็นเชื้อบัคเตรีชื่อว่า ไมโคแบคทีเรียม เลพรี (Mycobacterium leprae)

ระยะฟักตัว

            นานเป็นปี อาจเกินกว่า ๑๐ ปี

ลักษณะอาการ

ก. ชนิดที่เกิดแก่ผิวหนัง

            อาการที่สังเกตได้ง่ายมีดังนี้คือ

            ๑. ผิวหนังเป็นวง สีมักซีดจาง หรือเข้มกว่าผิวหนังธรรมดาก็ได้ ขึ้นตามตัว ทั้งตัวอาจมีวงเดียว หรือหลายวงก็ได้ ขนาดเล็กใหญ่ต่างกันไป บริเวณที่พบได้บ่อย ได้แก่ หน้า แขน ขา ก้น และแถวสะบัก

            ๒. ลักษณะเป็นผื่น มีสีเข้มกว่าผิวหนังธรรมดา ผื่นนี้มีขนาดต่างๆ กัน บางผื่นจะแลดูเป็นมันสีเข้ม

            ๓. ลักษณะเป็นตุ่มนูนบนผิวหนัง สีเข้มกว่าผิวหนังธรรมดา ตุ่มจะมีขอบชัดเจนเป็นได้ทั่วไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่มักปรากฎที่หน้าและลำตัว

ข. อาการทางเส้นประสาทส่วนปลายถูกทำลาย

            วงผื่น หรือตุ่มต่างๆ เหล่านี้ ผิดกับผื่นชนิดอื่นๆ ที่ผิวหนัง คือ บริเวณนั้นผิวจะแห้งกว่าปกติ ไม่มีเหงื่อออก ไม่คัน แต่จะมีความรู้สึกชาๆ บางครั้งเอาเข็มแทงก็ไม่รู้สึกตัว ทั้งนี้เนื่องจากเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงบริเวณนั้นถูกเชื้อโรคทำลายจนเสียไป หมดความรู้สึก หากปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ได้ทำการรักษาโรคก็จะลุกลามต่อไป ทำลายเส้นประสาททำให้มีอาการต่างๆ ทางประสาทมากขึ้นได้แก่ กล้ามเนื้ออ่อนแรง แขน ขา นิ้วมือลีบ หงิกงอ เป็นอัมพาต เดินเท้าตก ปากเบี้ยว หลับตาไม่ลง มีแผลเรื้อรังตามมือ ตามเท้า และจมูกโหว่ เป็นต้น หากเกิดความพิการเช่นนี้แล้ว ก็ยากที่จะทำให้กลับสู่สภาพเดิมได้ นอกจากบางรายอาจทำการผ่าตัดด้วยแก้ไขให้ดีขึ้นได้บ้าง

            ผู้ป่วยโรคเรื้อนอาจมีอาการทั่วๆ ไป เช่น มีไข้ มีอาการหวัด ต่อมน้ำเหลืองโต และซีด เป็นเช่นนี้อยู่หลายๆ สัปดาห์ก็ได้

การติดต่อ

            โรคเรื้อติดต่อกันได้ โดยการสัมผัสคลุกคลีอย่างใกล้ชิด หรือใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มร่วมกับผู้ป่วยที่กำลังป่วยอยู่ในระยะติดต่ออยู่นานๆ เชื้อโรคเรื้อนชอบอาศัยอยู่ในบริเวณผิวหนัง เส้นประสาทใต้ผิวหนัง และเยื้อบุจมูกของผู้ป่วย ผู้ป่วยที่มีแผลโรคเรื้อน เชื้อโรคจะออกปนมากับน้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำมูกของผู้ป่วย เชื้อโรคอาจติดต่อไปยังบุคคลอื่นได้ เมื่อสัมผัส บุคคลทุกชาติทุกภาษาอาจติดโรคนี้ได้ เด็กเล็กจะมีความไวในการรับเชื้อ และติดเชื้อได้มากกว่าผู้ใหญ่ ผู้ที่สัมผัสโรค ๑,๐๐๐ คน มีโอกาสเป็นโรคเรื้อนได้ ประมาณ ๒-๘ คนต่อปี
การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยในการป้องกันและควบคุมโรคเรื้อน
การให้ความรู้แก่ผู้ป่วย
ในการป้องกันและควบคุมโรคเรื้อน
การป้องกันและควบคุมโรค

            ๑. ไม่อยู่ใกล้ชิดคลุกคลีกับผู้ป่วย และถ้าทำได้ ควรแยกผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในระยะติดต่อไว้ต่างหาก แยกเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มออกจากกัน จนกว่าจะพ้นระยะติดต่อ ถ้าพ่อแม่เป็นโรค ควรแยกลูกไปเลี้ยงไว้ต่างหาก

            ๒. รักษาเสื้อผ้าของใช้และที่อยู่อาศัยให้สะอาดอยู่เสมอ

            ๓. ถ้าสงสัยว่าจะมีอาการทางผิวหนัง ให้รีบไปปรึกษาแพทย์ ณ สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง หรือที่โรคพยาบาล หากมีผู้ป่วยในบ้านควรไปตรวจร่างกายทุกๆ ๖ เดือน
            โรคนี้ยังไมีมีวัคซีนป้องกัน คาดว่าอีกไม่ช้าจะมี วัคซีนที่มีคุณภาพดีมาใช้ป้องกันโรค โรคเรื้อนเป็นโรค ที่รักษาให้หายได้ แต่ต้องได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มเป็น ต้องกินยาสม่ำเสมอ รักษาความสะอาดของร่างกายและ รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์