ภาคเหนือ และภาคอีสาน แม้ในภาคใต้ ชาวบ้านมีฝีมือทางการทอผ้า ย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ มีการออกแบบลวดลาย แสดงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
เมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในภาคใต้ ทรงพบว่า ชาวบ้านสานภาชนะ เช่น กระบุง ตะกร้า และกรงนก ด้วยย่านลิเภา ซึ่งเป็นเถาไม้เลื้อยเส้นเล็กและเหนียว จึงทรงส่งเสริมให้สานย่านลิเภาเป็นกระเป๋า และเครื่องใช้อื่นๆ เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังทรงส่งเสริมให้ชาวบ้านบางเสด็จปั้นตุ๊กตาไทย ชาวไทยภูเขาทำเครื่องประดับเงิน แบบที่แต่ละเผ่าเคยทำ อีกทั้งทรงส่งเสริมงานช่างฝีมือชั้นเลิศ เช่น การถมทอง การทำคร่ำ การทอจก การปักซอยแบบไทย การแกะสลักหนังตะลุง หัตถกรรมที่ตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสนับสนุนให้ราษฎรพัฒนาฝีมือ โดยจัดหาผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นนั้นเอง มาถ่ายทอดความรู้ มาฝึกอบรม ทรงจัดหาอุปกรณ์ให้ และสนับสนุนการจัดหาวัสดุในท้องถิ่นมาออกแบบอย่างสร้างสรรค์ สอดคล้องกับวัฒนธรรมพื้นบ้าน
พระองค์ทรงพระปรีชา คิดวิธีการส่งเสริมตลอดกระบวนการ ทรงรับซื้อผลผลิตศิลปาชีพ หาตลาด และจัดระบบการเพิ่มพูนรายได้ให้ประชาชน เมื่อพระราชกรณียกิจนี้ขยายกว้างขึ้น พระองค์จึงทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดระบบบริหารจัดการการส่งเสริมคุณภาพงานฝีมือ การฝึกอบรม การผลิต การตลาด และการอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมอันล้ำค่าของชาติ
ปัจจุบันมีศูนย์ศิลปาชีพหลายแห่ง ได้แก่ โรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม ศูนย์ศิลปาชีพบ้านจาร จังหวัดสกลนคร ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ จังหวัดลำปาง ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และศูนย์ศิลปาชีพเครื่องปั้นดินเผา พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์
ด้านการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพนั้น ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชม และซื้อได้ จากอาคารแสดงผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในสวนจิตรลดา และที่พระที่นั่งอภิเศกดุสิต รวมทั้งร้านจิตรลดา ซึ่งมีสาขารวม ๑๑ แห่ง ตั้งอยู่ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด
ผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ ได้รับการเผยแพร่ออกไป ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงฉลองพระองค์ชุดผ้าไหมไทย และทรงใช้ผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ เป็นแบบอย่าง มีการจัดนิทรรศการ แสดงผลงานฝีมือช่าง อันสวยงามวิจิตรเป็นประจำ
ผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพที่สำคัญ ได้แก่
๑) งานถม
๒) งานคร่ำ
๓) งานตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ
๔) งานเครื่องเงินและเครื่องทอง
๕) งานทอผ้าจก
๖) งานทอผ้าไหมแพรวา
๗) งานทอผ้าไหมมัดหมี่
๘) งานจักสานย่านลิเภา
๙) งานจักสานไม้ไผ่ลายขิด
๑๐) งานแกะสลักไม้
๑๑) งานเคลือบดินเผา
๑๒) งานสลักหนัง
๑๓) งานสลักหิน
๑๔) งานปัก และ
๑๕) งานดอกไม้ประดิษฐ ์