"สวนพฤกษศาสตร์" มาจากคำภาษาอังกฤษว่า "Botanic Gardens" ยังไม่มีคำจำกัดความที่แน่นอน แต่พอสรุปสั้นๆ ได้ว่า ควรมีลักษณะต่อไปนี้ คือ เป็นแหล่งรวบรวมพืช มีการบันทึกข้อมูลพืช ติดตามดูแลพืช ติดป้ายชื่อพืช เปิดให้สาธารณชนเข้าชม มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสวนพฤกษศาสตร์อื่น และมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืช โดยอาจมีลักษณะที่กล่าวมาครบทุกอย่างหรือไม่ครบก็ได้
สวนพฤกษศาสตร์ Botanic Gardens เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
สวนพฤกษศาสตร์อาจเป็นสวนพฤกษศาสตร์ทั่วไป หรือเป็นสวนพฤกษศาสตร์เฉพาะทาง เช่น สวนพฤกษศาสตร์พืชสมุนไพร ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อการเก็บรวบรวม ปลูก ศึกษาพืชสมุนไพร และเผยแพร่ความรู้ต่อสาธารณชน สวนพฤกษศาสตร์พืชพื้นเมือง ตั้งขึ้นเพื่อเพาะปลูก รวบรวม และแพร่พันธุ์ไม้พื้นเมือง สวนพฤกษศาสตร์กล้วยไม้ ตั้งขึ้น เพื่อรวบรวม ศึกษา และขยายพันธุ์กล้วยไม้พันธุ์ต่างๆ
สวนพฤกษศาสตร์เริ่มจัดตั้งในทวีปยุโรปก่อน ประเทศอิตาลีเป็นแหล่งกำเนิดของสวนพฤกษศาสตร์ประเทศแรก โดยระหว่าง พ.ศ. ๒๐๘๖ - ๒๐๙๐ ได้มีการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ตามเมืองต่างๆ ไว้รวม ๔ แห่ง หลังจากนั้นก็มีสวนพฤกษศาสตร์ในประเทศอื่นๆ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อังกฤษ สวีเดน ประเทศละ ๑ - ๒ แห่ง ซึ่งสร้างขึ้นในช่วง พ.ศ. ๒๑๐๓ - พ.ศ. ๒๒๒๒ สวนพฤกษศาสตร์ดังกล่าวมักมีขนาดเล็ก และส่วนใหญ่ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน
สวนหลวง ร.๙ ในกรุงเทพฯ เป็นสวนสาธารณะที่มีสวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งจัดขึ้นสมบูรณ์แบบ
ในสมัยที่ชาวยุโรปมีการก่อตั้งอาณานิคมขึ้นในดินแดนต่างๆ และมีการค้าขายกับดินแดนเหล่านั้น ได้มีการสร้างสวนพฤกษศาสตร์กระจายไปอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น เช่น มีการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์พืชเมืองร้อนแห่งแรกขึ้น บนเกาะมอริเชียส ซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ในมหาสมุทรอินเดียเมื่อ พ.ศ. ๒๒๘๙ เพื่อขยายพันธุ์ผักและผลไม้ ให้คนในอาณานิคมและลูกเรือ ที่แวะจอดที่ท่าเรือ ได้ใช้บริโภค ส่วนในทวีปอเมริกาเหนือได้มีการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ ในอาณานิคมเพนซิลเวเนียของอังกฤษขึ้นเป็นแห่งแรกใน พ.ศ. ๒๒๗๑
ได้มีการพัฒนาให้สวนพฤกษศาสตร์มีประโยชน์ยิ่งขึ้น เช่น สวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ ส่วนมากมีเรือนกระจก และห้องกระจกขนาดใหญ่ ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ให้เหมาะสมกับความต้องการของพืช ที่นำมาปลูกจากท้องถิ่นอื่น บางสวนมีการจัดโปรแกรมส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น จัดการศึกษาด้านการอนุรักษ์พันธุ์พืช ให้แก่นักเรียนและประชาชนกลุ่มอายุต่างๆ นอกจากนี้มีผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้เล็งเห็นความสำคัญของสวนพฤกษศาสตร์และการอนุรักษ์พันธุ์พืช ส่งผลให้เกิดสหภาพระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งได้ก่อตั้งสำนักงานเลขาธิการอนุรักษ์สวนพฤกษศาสตร์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๓๐ เพื่อประสานความร่วมมือ ทางด้านการอนุรักษ์ของสวนพฤกษศาสตร์ต่างๆ ทั่วโลก สำนักงานนี้มีฐานข้อมูลของพืชหายากและใกล้สูญพันธุ์ ที่ค้นพบ ในสวนพฤกษศาสตร์หลายร้อยแห่ง
สวนพฤกษศาสตร์ สมเด็จพระนางสิริกิติ์ จ.เชียงใหม่
ในประเทศไทยมีสวนพฤกษศาสตร์หลายแห่ง ที่สำคัญ ได้แก่ สวนพฤกษศาสตร์พุแค ที่จังหวัดสระบุรี ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ นับเป็นสวนพฤกษศาสตร์แห่งแรกของประเทศ ปัจจุบันมีพื้นที่ ๕,๐๕๐ ไร่ สวนหลวง ร.๙ ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งหน่วยงานและกลุ่มบุคคลได้จัดสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๕๓๐ มีพื้นที่ ๕๐๐ ไร่
และสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ ๖,๕๐๐ ไร่ เริ่มจัดตั้งใน พ.ศ. ๒๕๓๕ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ใช้ชื่อนี้ใน พ.ศ. ๒๕๓๗ นอกจากนี้ ยังมีสวนพฤกษศาสตร์อื่นๆ กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศอีกหลายแห่ง
สวนพฤกษศาตร์พุแค จ.สระบุรี เป็นสวนพฤกษศาตร์แห่งแรกของประเทศไทย