เล่มที่ 29
อุทยาน ประวัติศาสตร์ ในประเทศไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 29 อุทยาน ประวัติศาสตร์ ในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ความหมายของอุทยานประวัติศาสตร์

            อุทยานประวัติศาสตร์ คือ บริเวณสถานที่ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี และได้รับการบูรณะตกแต่งให้คงสภาพที่ดี ทั้งในส่วนที่เป็นโบราณสถาน และสภาพแวดล้อมต่างๆ โดยรอบ เพื่อให้เป็นแหล่งที่แสดงถึงความเจริญที่เกิดขึ้นในอดีต ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมเและเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมที่มีร่องรอยปรากฏอยู่ในบริเวณสถานที่แห่งนั้น


การจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย

            แนวความคิดในการจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ขึ้นในประเทศไทย มีที่มาจากความต้องการจะอนุรักษ์โบราณสถาน ซึ่งมีอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศให้คงสภาพที่ดี โดยใช้วิธีการบูรณะตกแต่งอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ พร้อมกันนั้น ก็มีการจัดสภาพแวดล้อมให้ดูร่มรื่นสวยงาม เช่น มีสวนป่า ขุดลอกคูคลองและสระน้ำ ทำถนนและทางเดิน ให้สามารถเข้าชมบริเวณต่างๆ ภายในอุทยานได้โดยสะดวก     

            อุทยานประวัติศาสตร์ที่จัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๐ - ๒๕๒๔) โดยมีแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาศิลปะและวัฒนธรรม เป็นตัวกำหนดโครงการ คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ สำหรับอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นเพียงการบูรณะโบราณสถานปราสาทหินเขาพนมรุ้งเท่านั้น ต่อมาภายหลังจึงจัดทำแผนแม่บท พัฒนาเป็นโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ขึ้น


ลักษณะสำคัญของอุทยานประวัติศาสตร์แต่ละแห่ง

            อุทยานประวัติศาสตร์ที่จัดตั้งขึ้นแล้วรวม ๑๐ แห่ง มีลักษณะสำคัญพอสรุปได้ดังนี้คือ

            ๑. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร มีโบราณสถานตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเคยเป็นราชธานี และเมืองสำคัญในสมัยสุโขทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยนั้น มีอาณาบริเวณกว้างขวางมากที่สุดถึง ๔๓,๗๕๐ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของกรุงสุโขทัยไว้เกือบทั้งหมด มีกำแพงเมือง คูเมือง ศาสนสถาน และสระน้ำที่เรียกว่า ตระพัง ซึ่งปัจจุบันยังคงอนุรักษ์ไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน     

            ๒. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มีโบราณสถานที่แสดงถึงความเจริญของกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่เริ่มตั้งเป็นราชธานีเรื่อยมาจนถึงการเสียกรุงครั้งที่ ๒ มีพระราชวังโบราณและวัดวาอารามเป็นจำนวนมาก เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ที่จัดตั้งขึ้นในบริเวณที่มีชุมชนตั้งบ้านเรือนอย่างหนาแน่นแล้วในปัจจุบัน ขอบเขตของอุทยานฯ ที่เป็นเกาะ มีน้ำล้อมรอบ และบริเวณนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา จึงมิได้อยู่ต่อเนื่องเป็นบริเวณเดียวกัน เหมือนอย่างอุทยานประวัติศาสตร์แห่งอื่นๆ


            ๓. อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อุทยาน ประวัติศาสตร์ศรีเทพ มีโบราณสถาน ที่แสดงที่ตั้งของเมือง พร้อมทั้งศาสนสถาน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมืองโบราณนั้น
            
            ๔. อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง มีปราสาทหินศิลปะเขมรโบราณ ตั้งอยู่ บนเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไฟเก่าที่หมดพลังแล้ว
การจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย


            ๕. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี มีโบราณสถาน ซึ่งเป็นพระราชวัง และอาคารสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

            ๖. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีโบราณสถานที่แสดงภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งปรากฏอยู่บนผนังของเพิงผาหิน รวมทั้งศิลปกรรมสมัยทวารวดี ศิลปกรรมแบบเขมร และศิลปกรรมสกุลช่างลาว ที่ปรากฏอยู่ตามศาสนสถานในบริเวณนั้น     
อุทยานประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลก


            ในการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลก แห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม และธรรมชาติของโลก ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ณ เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้มีมติยกย่องให้อุทยานประวัติศาสตร์ ๔ แห่งในประเทศไทย เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร และอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา นับเป็นที่น่าภาคภูมิใจของคนไทยทุกคนเป็นอย่างยิ่ง ที่เป็นเจ้าของร่วมกัน ของแหล่งโบราณสถานที่สำคัญในสายตาของชาวโลก