การดูแลสุขภาพนั้น ต้องดูแลให้เหมาะสมกับวัยด้วย เมื่อครอบครัวอยู่รวมกันหลายคนและต่างวัยกัน ผู้ที่ดูแลอาจเป็นบิดามารดา หรือญาติพี่น้อง ก็แล้วแต่สภาวะของแต่ละคน โดยเมื่ออยู่รวมกันในบ้าน ผู้ใหญ่ก็จะต้องดูแลผู้ที่อ่อนวัยกว่า สำหรับวัยเด็กนั้น เป็นวัยที่ต้องเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ เพื่อให้เขามีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ แต่ทั้งนี้สิ่งใดที่เด็กสามารถทำเองได้ ก็ควรจะให้ทำ เพราะไม่มีใครสามารถช่วยให้ผู้อื่นมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดีพร้อมได้เท่ากับการพึ่งพาตนเอง
ครอบครัวที่มีสมาชิกต่างวัยอยู่ร่วมกัน ต้องมีการดูแลกันและกันอย่างเหมาะสม
ในการที่จะให้ทุกคนในครอบครัวมีสุขภาพดี สิ่งที่จะต้องเอาใจใส่เป็นอันดับแรก คือ อาหาร เพราะการที่จะมีสุขภาพดีได้นั้น จะต้องรับประทานอาหารให้ได้ความสมดุลทางโภชนาการ โดยยึดหลักการรับประทานอาหารหลากหลายชนิด เพื่อให้ครบทั้ง ๕ หมู่ และพยายามควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักละเลยสุขนิสัยในการรับประทานอาหาร เนื่องจากวิถีชีวิตเปลี่ยนไปมาก จนทำให้ไม่มีเวลาทำอาหารด้วยตนเอง
สุขนิสัยในการรับประทานอาหารจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อรู้จักเลือกอาหารที่ดี และมีประโยชน์ ให้เวลาที่มากพอกับการรับประทานอาหาร อย่าทำให้การรับประทานอาหารเป็นเรื่องน่าเบื่อ เช่น เมื่อถึงเวลารับประทานอาหารก็บ่นว่า “ไม่รู้จะรับประทานอะไร เบื่อจริงๆ” หรือบางคนก็ทำให้เป็นเรื่องพิเศษมากเกินไป จนดูวุ่นวายมากกับการหาอาหารมารับประทาน การจะทำอะไรต้องมีการวางแผนที่ดี การที่จะทำอาหารรับประทาน ก็ต้องมีการคิดและเตรียมตัวล่วงหน้าเช่นกัน การเลือกซื้ออาหารทั้งอาหารสด และอาหารแห้งก็จะต้องศึกษา เช่น ควรซื้อผักผลไม้ตามฤดูกาล นอกจากนั้น ควรรู้ว่า ธัญพืช เช่น ข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ มีประโยชน์มากกว่าข้าวขัดขาว เพราะช่วยเพิ่มเส้นใยอาหาร และวิตามินมากกว่า
บางครั้งเราไม่มีเวลาพอที่จะทำอาหารสดได้ เราก็มักรับประทาน อาหารสำเร็จรูป เช่น อาหารกระป๋อง อาหารพร้อมปรุง ในการเลือกซื้ออาหารสำเร็จรูป ควรอ่านฉลากอาหารให้เข้าใจ ดูวัน เดือน ปี ที่จะหมดอายุ เรื่องนี้ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง นอกจากนั้น ควรสร้างสุขนิสัยในการรับประทานอาหารให้เป็นเวลา
นอกจากอาหารแล้ว เครื่องดื่มก็เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับสุขภาพ เครื่องดื่มที่ดีที่สุด สำหรับร่างกาย คือ น้ำ หรือน้ำผลไม้ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ หรือกาเฟอีนแทนน้ำ คนที่มีสุขภาพแข็งแรง รับประทานอาหารได้ตามปกติ จะต้องได้รับน้ำอย่างน้อยวันละ ๓ ลิตร
ถ้าร่างกายขาดน้ำเราจะสังเกตได้ด้วยตัวเราเอง เช่น ปัสสาวะมีสีเข้ม คลื่นไส้ วิงเวียน ปวดศีรษะ ไม่มีสมาธิ หมดแรง
เราไม่ควรเสพสิ่งเสพติดที่จะทำลายและบั่นทอนชีวิตของเรา เช่น เหล้า บุหรี่ และยาเสพติดต่างๆ เพราะสิ่งเสพติดเหล่านี้ จะบั่นทอนและทำลายสุขภาพ
นอกจากสุขนิสัยในการรับประทานอาหารแล้ว ควรคำนึงถึงสุขนิสัยในการทำความสะอาดร่างกาย โดยปกติเราจะอาบน้ำวันละ ๒ ครั้งเป็นอย่างน้อย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มก็ควรซักให้สะอาด และรีดให้เรียบร้อย เพื่อความสวยงาม ประทับใจผู้ที่พบเห็น อีกทั้งยังเสริมบุคลิกภาพของตนเองด้วย
การพักผ่อนก็นับว่า เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชีวิต เราควรจะพักผ่อนให้เพียงพอ การที่นอนดึกเพราะทำงานไม่เสร็จ แล้วดื่มกาแฟที่ชงเข้มข้น ไม่ได้เป็นผลดีต่อสุขภาพของเราเลย เราจะต้องรู้จักแบ่งเวลาในแต่ละวันให้เหมาะสมว่า จะทำอะไรกี่ชั่วโมง หรือพักผ่อนกี่ชั่วโมง
สิ่งที่เป็นความปรารถนาในชีวิตมนุษย์คือ ความไม่มีโรค ดังคำกล่าวที่ว่า “อโรคยา ปรมาลาภา” คือ ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เราจึงต้องดูแลร่างกายของเราให้แข็งแรงอยู่เสมอ วิธีที่จะทำให้ร่างกายของเราแข็งแรงก็คือ การออกกำลังกาย เราสามารถเลือกออกกำลังกาย ที่ทำให้เราทั้งสนุก และมีความสุขตามที่เราชอบ เช่น บางคนก็ชอบเดิน วิ่ง ว่ายน้ำ เล่นกีฬา เช่น กอล์ฟ เทนนิส แบดมินตัน ฟุตบอล บาสเกตบอล เต้นรำหรือเต้นแอโรบิกตามเสียงเพลงที่เร้าใจ แต่จะออกกำลังกายอย่างใด ก็ต้องให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของเรา ไม่หักโหมจนเกินไป อย่างน้อยควรจะออกกำลังกายสัปดาห์ละ ๓ วัน วันละ ๒๐ - ๓๐ นาที ให้เคยชินเป็นนิสัย
สุขภาพจะดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่า เราเอาใจใส่ตนเองเพียงใด เช่น หมั่นตรวจสอบน้ำหนักตัวอยู่เสมอ เพื่อให้รู้ว่าน้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือลดลงผิดปกติหรือไม่ การอ้วนหรือผอมเกินไปก็ทำให้เราเจ็บป่วยและร่างกายไม่แข็งแรง เมื่อเจ็บป่วย เราก็ต้องเอาใจใส่ดูแลตนเอง หากป่วยเป็นโรคเล็กๆ น้อยๆ เช่น โรคหวัด จะช่วยให้หายป่วยเร็วขึ้น นอกจากนี้ ควรคำนึงถึงสุขนิสัยในการทำงานอย่างถูก
สุขลักษณะด้วย
เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อจะได้รักษาได้ทันท่วงที
การมีสุขภาพกายดีอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องมีสุขภาพจิตดีด้วย เพราะสุขภาพจิตสัมพันธ์กับสุขภาพกาย พยายามรักษาสุขภาพจิตให้ดี อย่าให้เกิดความเครียด เพราะจะมีผลกระทบต่อระบบการย่อยอาหาร อาหารไม่ย่อย มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือบางครั้งก็ทำให้ความดันโลหิตสูง
เมื่อรู้สึกเครียดให้สูดลมหายใจเข้าและออกลึกๆ พร้อมกับนับ ๑ – ๑๐ แล้วก็สังเกตดูตนเอง หรืออาจออกไปเดินเล่น เพื่อรับอากาศบริสุทธิ์ แสดงท่ายืดเส้นยืดสาย สวดมนต์ นั่งสมาธิ หรือฝึกโยคะ ความเครียดก็จะผ่อนคลายลงการผ่อนคลายความเครียดประมาณ ๑๐ - ๑๕ นาที ช่วยให้ความดันโลหิตลดลง รู้สึกกระฉับกระเฉง และนอนหลับสนิท
กายและจิตเป็นของคู่กัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เมื่อกายป่วยจิตก็จะพลอยป่วยไปด้วย ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตไปพร้อมๆ กัน