เล่มที่ 29
พระพุทธรูป
เล่นเสียงเล่มที่ 29 พระพุทธรูป
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            พระพุทธศาสนามีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระพุทธเจ้า เป็นพระศาสดา พระพุทธศาสนาได้เกิดมานาน ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว ในช่วงที่พระพุทธเจ้าทรงมีชีวิตอยู่ และหลังจากที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วหลายร้อยปี ก็ยังไม่มีการสร้างสิ่งที่เป็นรูปเคารพแทนพระองค์ หรือที่เรียกว่า พระพุทธรูป อย่างที่รู้จักกันในปัจจุบันนี้ จนเมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จล่วงลับไปแล้วถึงประมาณ ๗๐๐ ปี จึงได้มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นครั้งแรก

            พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นถือเป็นสิ่งแทนองค์พระพุทธเจ้า เพื่อแสดงถึง ความเคารพศรัทธาเลื่อมใสต่อพระองค์ และเพื่อเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป


พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม

            เนื่องจากการสร้างพระพุทธรูปได้เกิดขึ้นภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปนานหลายร้อยปีแล้ว จึงไม่อาจทราบพระพุทธลักษณะที่แท้จริงของพระองค์ได้ ดังนั้น พระพุทธรูปที่เราเห็นทุกวันนี้ จึงสร้างไม่เหมือนกับพระองค์จริงทีเดียว แต่สร้างขึ้นตามความนึกคิดของช่าง ประกอบกับฝีมือช่าง และศิลปะในแต่ละสมัย พระพุทธรูปที่ปรากฏอยู่ในที่ต่างๆ จึงมีลักษณะองค์ประกอบ เช่น พระเศียร พระพักตร์ จีวร แตกต่างกัน รวมทั้งมีลักษณะท่าทางต่างๆ กันด้วย ท่าทางของพระพุทธรูปแต่ละท่าเรียกว่า ปาง ซึ่งแต่ละปางเป็นการบอกให้ทราบถึงพุทธประวัติตอนใดตอนหนึ่ง

            ในประเทศไทยการสร้างพระพุทธรูปมีทั้งที่สร้างให้มีขนาดใหญ่มาก เช่น พระมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย (ท่านั่ง) พระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ (ท่านอน) พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เป็นพระพุทธรูปลีลา (ท่าเดิน) ไปจนถึงการสร้างพระพุทธรูปขนาดเล็กๆสำหรับห้อยกับสร้อยคอติดตัวเรา การ สร้างก็มีหลายวิธี เช่น โดยการหล่อด้วยโลหะทองสัมฤทธิ์ โดยการดุนนูนบนแผ่นทองคำและเงิน โดยการปั้นและเผา โดยการก่ออิฐถือปูน โดยการสลักบนหินตามหน้าผา หรือสลักจากไม้ และหินมีค่า และโดยการวาดเป็นภาพไว้ตามผนังโบสถ์หรือวิหาร ในต่างประเทศที่มีผู้นับถือพระพุทธศาสนา เช่น ในประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า จีน และญี่ปุ่น ก็มีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ๆ ไว้ด้วยเช่นเดียวกัน

            ในวัดต่างๆ มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์ เรียกว่า พระประธาน นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปตั้งอยู่ที่อื่นๆ อีก เช่น ที่วิหาร ระเบียง และศาลาการเปรียญ บางบ้านก็มีพระพุทธรูปตั้งไว้สำหรับเคารพบูชาด้วย หากมีจำนวนน้อย และขนาดไม่ใหญ่ ก็อัญเชิญไว้บนหิ้ง เรียกว่า หิ้งพระ ถ้ามีจำนวนมากๆ และมีขนาดค่อนข้างใหญ่ อาจจัดไว้ในห้องหนึ่งต่างหาก เรียกว่า ห้องพระ

            เมื่อเราทราบว่า พระพุทธรูปคืออะไร และมีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาอย่างไรแล้ว เวลาที่กราบไหว้พระพุทธรูป เราจึงตั้งใจระลึกถึงพระคุณ ๓ ประการ ได้แก่

                        ๑.พระพุทธคุณ คือ คุณของพระพุทธเจ้า อันประกอบด้วย พระปัญญาคุณ ที่ทรงรู้ดี รู้ชอบโดยสิ้นเชิง พระบริสุทธิคุณ ที่ทรงละความเศร้าหมองได้หมด และพระกรุณาคุณ ที่ทรงสงสารผู้อื่น และสั่งสอนให้ปฏิบัติตาม

                        ๒.พระธรรมคุณ คือ คุณของพระธรรม ที่จะรักษาผู้ปฏิบัติตามไม่ให้ตกไปในทางที่ชั่ว และ

                        ๓.พระสังฆคุณ คือ คุณของพระอริยสงฆ์ ที่ได้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ และกระทำการสืบพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อมาถึงปัจจุบัน

            พุทธศาสนิกชนที่ดีนั้น นอกจากจะถือปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า โดยการละเว้นจากความชั่ว และทำความดีประกอบกันแล้ว การสวดมนต์และกราบไหว้พระก่อนนอนเป็นประจำทุกวัน ก็จะนำความสุข และความเจริญ ให้เกิดแก่ตัวเราตลอดไป