วัดไทย หมายถึง วัดพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ถือเป็นศาสนสถาน ของพุทธศาสนิกชน คือ เป็นสถานที่สำหรับสงฆ์และฆราวาสปฏิบัติศาสนกิจร่วมกัน นอกจากนี้ยังเป็นปูชนียสถาน คือ มีสิ่งที่ควรเคารพบูชาอันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า ได้แก่ พระพุทธรูป ซึ่งประดิษฐานอยู่ในโบสถ์ วิหาร และมณฑป พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งบรรจุอยู่ในพระสถูปเจดีย์ และพระปรางค์ และพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเก็บรักษาไว้ในหอพระธรรม หรือหอไตร อีกทั้งวัดยังเป็นที่พำนักอาศัยของพระสงฆ์ด้วย
วัดไทย ส่วนใหญ่แบ่งบริเวณภายในวัดออกเป็น ๒ เขตใหญ่ๆ คือ เขตพุทธาวาส เป็นพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเจดีย์ ปรางค์ โบสถ์ วิหาร และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ซึ่งใช้เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจร่วมกันของสงฆ์และฆราวาส กับเขตสังฆาวาส เป็นพื้นที่ ซึ่งเป็นที่พำนักของภิกษุ และสามเณร
ในแต่ละเขตมีอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ควรทราบ ดังนี้
๑. เขตพุทธาวาส
อุโบสถหรือโบสถ์ เป็นสถานที่ที่พระสงฆ์ประชุมทำสังฆกรรมต่างๆ เช่น การทำอุโบสถ การอุปสมบท และการกรานกฐิน การทำอุโบสถหมายถึง การที่พระสงฆ์ทุกรูปในวัดหนึ่งๆ มาประชุมพร้อมกัน เพื่อสวดปาติโมกข์ คือ สวดพระพุทธบัญญัติว่าด้วยวินัยของสงฆ์ ๒๒๗ ข้อ เป็นประจำทุกๆ วันอุโบสถ หรือวันพระ ซึ่งกำหนดทางจันทรคติเป็นวันขึ้น ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ กับวันแรม ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ อาคารที่เป็นอุโบสถ มีเครื่องหมายเป็นที่สังเกตได้ คือ มีใบเสมาปักไว้ล้อมรอบตัวอุโบสถ ตามปกติปักไว้รวม ๘ ทิศ ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปซึ่งเรียกว่า พระประธาน
วิหาร ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป รวมทั้งอาจใช้ประกอบศาสนพิธีต่างๆ ด้วย บางวัดอาจมีวิหารได้มากกว่า ๑ หลัง โดยมีขนาดและรูปทรงต่างๆ กัน ขึ้นอยู่กับประโยชน์ใช้สอย และมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ได้แก่ วิหารหลวง วิหารทิศ วิหารคด วิหารราย เป็นต้น
พระสถูปเจดีย์ และพระปรางค์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แต่เนื่องจากในปัจจุบัน ตามวัดต่างๆ มีการสร้างพระสถูปเจดีย์ และพระปรางค์เป็นจำนวนมาก พระสถูปเจดีย์ และพระปรางค์บางองค์ จึงมิได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แต่บรรจุพระพุทธรูปไว้แทน พระสถูปเจดีย์มีทั้งแบบทรงกรวยกลม และแบบทรงกรวยสี่เหลี่ยม นอกจากนี้ ยังมีแบบยอดทรงดอกบัวตูม ซึ่งพบมากในจังหวัดสุโขทัย ส่วนพระปรางค์มีทั้งปรางค์เดี่ยว ปรางค์ ๓ องค์ และปรางค์ ๕ องค์
หอพระธรรม หรือหอไตร เป็นอาคารที่เก็บรักษาคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระสงฆ์ได้ศึกษาเล่าเรียน ฯลฯ
๒. เขตสังฆาวาส
กุฏิ เป็นที่อยู่อาศัยของภิกษุ และสามเณร
ศาลาการเปรียญ ใช้เป็นสถานที่สำหรับภิกษุ และสามเณร ศึกษาพระพุทธศาสนา รวมทั้งพุทธศาสนิกชนสามารถใช้ประโยชน์ ในการบำเพ็ญกุศลในวันธรรมสวนะด้วย
หอกลอง และหอระฆัง ใช้เป็นที่บอกเวลาแก่พระสงฆ์ เพื่อการทำวัตรปฏิบัติประจำวัน อาจสร้างเป็นหอเดียวรวมกัน หรือแยกเป็น ๒ หอ ก็ได้ ฯลฯ