แผ่นดินไหว นับเป็นภัยธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของมนุษย์ แผ่นดินไหวที่รุนแรง ทำความเสียหายอย่างมากมาย มีทั้งแผ่นดินแยก แผ่นดินถล่ม สิ่งก่อสร้างพังทลาย และผู้คนล้มตายจำนวนมาก จึงเป็นที่น่าสนใจ และน่าศึกษาว่า ภัยธรรมชาตินี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร
เราทราบว่า โลกมีสัณฐานเป็นทรงกลม มีเปลือกแข็งห่อหุ้มเป็นผิวโลก ภายในมีของหลอมเหลวที่ยังร้อนอยู่ ผิวที่ห่อหุ้มโลกไม่ได้เป็นชิ้นเดียวติดต่อกันเหมือนผิวส้ม แต่มีรอยแยก ทำให้เกิดเป็นแผ่นๆ หลายแผ่นรอบโลก เมื่อแผ่นเปลือก โลกเหล่านี้เคลื่อนที่ตามแนวรอยแยก ก็เรียกว่า เกิดแผ่นดินไหว แผ่นเหล่านี้จะเคลื่อนที่ได้ ต้องมีแรงมาดันให้เคลื่อนที่ แรงดันนี้เกิดจากของเหลวที่ร้อนจัด ภายในโลก เมื่อดันให้แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ ก็จะมีบางแผ่นถูกยกตัวขึ้น บางแผ่นก็จะจมลง จึงเกิดการสั่นสะเทือนเป็นคลื่น คือ คลื่นแผ่นดินไหว แรงดันที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวนี้ อาจเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟก็ได้ มักพบบ่อยๆ ว่า เมื่อมีภูเขาไฟระเบิด ก็จะมีแผ่นดินไหวตามมาด้วย ถ้าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอย่างรุนแรง และมีพลังงานมหาศาลเกิดขึ้น จะก่อให้เกิดอันตราย และความเสียหายมากมายดังกล่าวแล้ว แต่ถ้าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ก็ไม่มีอันตรายอะไร
อันตรายอีกอย่างหนึ่งที่ตามมา เมื่อเกิดแผ่นดินไหวคือ อันตรายจากคลื่นใต้น้ำ ถ้าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทร พื้นมหาสมุทรจะมีการเคลื่อนที่ ทำให้น้ำจำนวนมากในมหาสมุทรเคลื่อนตัวในลักษณะแกว่งไปมา เกิดเป็นคลื่นวิ่งไปด้วยความเร็วสูง ขณะที่คลื่นอยู่ในมหาสมุทรลึก จะไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ปรากฏเหนือผิวน้ำ เพราะยังไม่มีการยกตัวของน้ำที่เคลื่อนที่ คลื่นจะเคลื่อนตัวไปในแนวราบใต้ผิวน้ำ จึงเรียกว่า คลื่นใต้น้ำ แต่เมื่อคลื่นวิ่งมาถึงชายฝั่งซึ่งตื้นขึ้น ก็จะยกตัวขึ้นเหนือผิวน้ำ กลายเป็นคลื่นมหึมาที่เรียกว่า คลื่นยักษ์ วิ่งเข้าหาแผ่นดินด้วยความเร็วสูง และทำลายสิ่งกีดขวางด้วยพลังมหาศาล คลื่นนี้มีพลังมาก อาจวิ่งข้ามมหาสมุทรไปเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตรด้วยความเร็วพอๆ กับเครื่องบินไอพ่น จึงย่อมก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นอย่างมากมาย บางครั้งมีผู้เสียชีวิตจากคลื่นยักษ์มากกว่าผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวโดยตรง
เพื่อให้ทราบว่า แผ่นดินไหวขนาดใด ที่จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ จึงได้มีมาตรา สำหรับวัดขนาดของแผ่นดินไหว จากพลังงานที่เกิดขึ้นคือ มาตราริกเตอร์ ซึ่งแบ่งตั้งแต่แผ่นดินไหวขนาดต่ำไปหาขนาดสูงเป็น ๑๐ ขั้น จาก ๐ -> ๑๐ ริกเตอร์ แผ่นดินไหวตั้งแต่ ๕ ริกเตอร์ขึ้นไป ถือว่ามีความรุนแรงพอที่จะทำให้สิ่งก่อสร้างพังได้ อย่างไรก็ตาม ขนาดของแผ่นดินไหวที่เท่ากัน แต่ต่างสถานที่กัน ก็ทำให้เกิดความเสียหายต่างกันได้ ในประเทศไทยเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด ๖.๕ ริกเตอร์ ที่จังหวัดน่าน แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายมากนัก มีเพียงตึกร้าวเท่านั้น ไม่ถึงกับพังทลาย นอกจากนั้นก็เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กนานๆ ครั้ง ทางภาคเหนือ และภาคตะวันตกของประเทศ เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตาก กาญจนบุรี
ถึงแม้ว่าแผ่นดินไหวในประเทศไทย จะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และแต่ละครั้งก็ไม่มีความรุนแรงจนถึงกับมีผู้เสียชีวิต แต่เพื่อความไม่ประมาท เราควรรู้จักการปฏิบัติตน เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ข้อสำคัญคือ อย่าตื่นตกใจ และต้องควบคุมสติไว้ ถ้าอยู่ภายในอาคาร ก็พยายามอยู่ใกล้ส่วนที่มีโครงสร้างแข็งแรง หรือหมอบอยู่ใต้โต๊ะเก้าอี้ ถ้าอยู่นอกอาคาร ก็พยายามอยู่ห่างจากเสาไฟ หรือต้นไม้สูง ให้อยู่ในที่โล่งแจ้ง โดยนั่งหรือนอนลง เมื่อการสั่นสะเทือนผ่านไป และตัวอาคารที่อยู่อาศัยเกิดความเสียหาย ต้องรีบออกจากอาคารนั้น และไม่ควรกลับเข้าไป จนกว่าจะได้รับการสำรวจว่า ปลอดภัยดีแล้ว มิฉะนั้น อาคารอาจถล่มทับได้ แผ่นดินไหว อาจเกิดตามมาอีกหลายระลอก จึงไม่ควรประมาท ต้องระมัดระวังตัวตลอดเวลา ทางที่ดีควรอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ช่วยเหลือกันได้ทันท่วงที