วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เดิมเป็นวัดเก่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเรียกชื่อว่า วัดโพธาราม ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างกรุงเทพฯ เป็นราชธานีใน พ.ศ. ๒๓๒๕ แล้ว ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นใหม่ ให้เป็นวัดสำคัญประจำรัชกาล เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง เมื่อบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้พระราชทานนามวัดว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ และมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในสมัยรัชกาลที่ ๔
การบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ในรัชกาลที่ ๑ นั้น ใช้ระยะเวลา ในการก่อสร้างนานถึง ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน หลังจากการถมดินบริเวณวัด ซึ่งเป็นที่ลุ่มเรียบร้อยแล้ว สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ พระอุโบสถ พระระเบียง พระวิหารทิศ วิหารคด ศาลาการเปรียญ พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ พระเจดีย์หย่อม ๒๐ องค์ และพระปรางค์ทิศ ๔ องค์ ล้วนแล้วแต่สร้างขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ทั้งสิ้น
ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานพระกฐินที่วัดนี้ ทอดพระเนตรเห็นสิ่งก่อสร้างต่างๆ ทรุดโทรมเป็นอันมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ เริ่มการปฏิสังขรณ์ใน พ.ศ. ๒๓๗๕ ใช้เวลาบูรณปฏิสังขรณ์นานถึง ๑๖ ปี การบูรณปฏิสังขรณ์มีทั้งการรื้อแก้ไขของเดิม เช่น พระอุโบสถ พระวิหารทิศ ศาลาการเปรียญ และที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น พระมณฑป พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ พระมหาเจดีย์ ๒ องค์ ขนาบด้านทิศเหนือ และทิศใต้ของพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ และพระเจดีย์ราย
จารึกกลบทที่พระระเบียงพระอุโบสถ
นอกจากการก่อสร้างอาคาร และสิ่งต่างๆ แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมเลือกสรรตำรับตำราต่างๆ มาจารึกไว้บนแผ่นศิลา ประดับไว้ตามที่ต่างๆ ในบริเวณวัดพระเชตุพน เพื่อให้คนทั้งหลาย สามารถเรียนรู้ความรู้ต่างๆ ที่สนใจจากศิลาจารึกนั้น
ความรู้ที่จารึกไว้บนแผ่นศิลา ซึ่งรวมเรียกกันในปัจจุบันว่า ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน แบ่งออกเป็นหมวดต่างๆ ดังนี้
๑. หมวดพระพุทธศาสนา
๒. หมวดวรรณคดีร้อยกรองและร้อยแก้ว
๓. หมวดอักษรศาสตร์
๔. หมวดเวชศาสตร์
บริเวณศาลารายหน้าพระมหาเจดีย์ด้านทิศใต้
ในปัจจุบัน ได้มีผู้คัดลอกจารึกบนแผ่นศิลามารวบรวมพิมพ์ไว้เป็นเล่ม เพื่อสะดวกแก่การศึกษาค้นคว้า แต่ผู้ที่ต้องการอ่านจารึกจากแผ่นศิลาจริงๆ ก็สามารถไปดูได้ที่วัดพระเชตุพน เช่น จารึกในหมวดพระพุทธศาสนา ว่าด้วยเรื่องราวของพระสาวกเอตทัคคะ ๔๑ องค์ ติดไว้ที่เชิงผนังหน้าต่างพระอุโบสถ เรื่องอุบาสกเอตทัคคะ ๑๐ คน และอุบาสิกาเอตทัคคะ ๑๐ คน ติดไว้ที่เชิงผนังในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ จารึกในหมวดวรรณคดีร้อยกรอง ว่าด้วยโคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ติดอยู่ใต้ภาพจำหลักเรื่องรามเกียรติ์ ๑๕๒ ภาพ ที่พนักรอบพระอุโบสถ จารึกในหมวดอักษรศาสตร์ว่าด้วยตำราฉันท์วรรณพฤติ ๕๐ แบบ เพลงยาวกลบท และกลอักษร มีอยู่ที่เสาพระระเบียงรอบพระอุโบสถ และจารึกในหมวดเวชศาสตร์ว่าด้วยตำรายาต่างๆ ที่มีสรรพคุณแก้โรคทั้งปวง มีรายละเอียดเกี่ยวกับตัวยา และอธิบายลักษณะของโรค อยู่ที่ศาลาราย
ภาพมงคล ๑๐๘ ประการ ที่ฝ่าพระบาทพระพุทธไสยาสน์ ในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์
จารึกวัดพระเชตุพน นับเป็นแหล่งรวมวิชาต่างๆ ที่คนทั่วไปในสมัยก่อน สามารถศึกษาได้หากมีความสนใจ แม้ในปัจจุบัน ความรู้บางอย่างก็ยังคงเป็นที่สนใจ และนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ความรู้เกี่ยวกับตำรายาไทย ซึ่งเป็นที่มาของการแพทย์แผนโบราณ และความรู้เกี่ยวกับท่าของฤาษีดัดตน ซึ่งเป็นต้นตำรับของการนวดของไทย