ทุเรียน เป็นผลไม้รสดี ราคาแพง มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และชาวสวนปลูกแพร่หลาย ในประเทศไทยมีทุเรียน ๔ ชนิด คือ ทุเรียนปลูก ทุเรียนดอน ทุเรียนนก และทุเรียนป่า ต้นทุเรียนเติบโตได้ดีในแถบภูมิอากาศร้อน เกาะบอร์เนียวเป็นศูนย์กลางความหลากหลายของพืชสกุลทุเรียน และแพร่ขยายไปสู่ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย บรูไนดารุสซาลาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย
ทุเรียนปลูก เป็นทุเรียนเพียงชนิดเดียว ที่มีการปลูกเชิงการค้าแพร่หลายในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไนดารุสซาลาม ฟิลิปปินส์ และในบางส่วนของออสเตรเลีย แต่ละถิ่นเรียกชื่อทุเรียนต่างกัน แต่ที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ ดูเรียน (durian) ในภาษามลายู อินโดนีเซีย ภาษาอังกฤษ และทุเรียนในภาษาไทย
เมื่อครั้ง เมอร์ซิเออร์ เดอลาลูแบร์ หัวหน้าคณะราชทูตจากประเทศฝรั่งเศส อัญเชิญพระราชสาส์นมาถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ กรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๒๓๐ เขาได้เขียนบันทึกไว้ มีตอนหนึ่ง ที่กล่าวถึงทุเรียน โดยคนไทยสมัยนั้นเรียกชื่อว่า ทูลเรียน (Tourrion) แสดงว่า ได้มีการปลูกทุเรียนมาแล้ว ตั้งแต่สมัยอยุธยา
มีรายงานกล่าว ถึงการนำพันธุ์ทุเรียน จากจังหวัดนครศรีธรรมราช มาปลูกในกรุงเทพฯ ธนบุรี นนทบุรี แล้วขยายไปสู่จังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย เช่น จังหวัดอุตรดิตถ์ นครพนม ชุมพร ปราจีนบุรี นครนายก ระยอง จันทบุรี และตราด
การขยายพันธุ์ทุเรียน ในระยะต้น ใช้วิธีเพาะเมล็ดไปปลูก ต่อมาพัฒนาเป็นการปลูกด้วยกิ่งตอน แต่เนื่องจากกิ่งตอนหาได้ยาก ชาวสวนส่วนใหญ่จึงปลูกด้วยเมล็ด เกิดเป็นทุเรียนพันธุ์ลูกผสมตามธรรมชาติมากมาย มีเอกสารการเกษตรรายงานพันธุ์ต่างๆ ของทุเรียนไว้ว่า มีจำนวนมากถึง ๒๒๗ พันธุ์
แต่เดิม ชาวสวนทุเรียน นิยมทำแปลงปลูกทุเรียน แบบสวนยกร่อง และมักปล่อยให้เติบโต ตามธรรมชาติ ปัจจุบัน วิทยาการทางการเกษตร ช่วยให้ชาวสวนทุเรียน เลือกใช้พันธุ์ที่เหมาะสม ใช้เทคนิคการจัดทรงพุ่ม ให้ปุ๋ย ให้น้ำ กระตุ้นระบบราก ตัดแต่งกิ่ง กำหนดปริมาณการไว้ผล มีการป้องกัน และกำจัดโรคและแมลงต่างๆ ที่ทำให้ใบ ดอก และผลทุเรียนเหลือง หลุดร่วง ต้นและรากเน่า
ในแหล่งปลูกดั้งเดิมที่จังหวัดนนทบุรี และธนบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่ม น้ำท่วมถึง ชาวสวนทุเรียนจึงปลูกทุเรียนแบบสวนยกร่อง และมีการปลูกพืชแซม เช่น หมาก มะพร้าว มะนาว มะกรูด มะม่วง ชมพู่ กระท้อน กล้วย ชาวสวนทุเรียนจึงมีรายได้จากไม้ผลประเภทอื่นๆ ตามฤดูกาลตลอดปี
พันธุ์ทุเรียนที่ปลูกในประเทศไทย จำแนกได้เป็น ๖ กลุ่ม ตามลักษณะรูปร่างใบ ปลายใบ ฐานใบ ทรงผล และรูปร่างของหนามผล คือ
๑. กลุ่มกบ จำแนกพันธุ์ได้ ๔๖ พันธุ์ เช่น กบตาดำ กบทองคำ กบวัดเพลง กบก้านยาว
๒. กลุ่มลวง จำแนกพันธุ์ได้ ๑๒ พันธุ์ เช่น ลวงทอง ชะนี สายหยุด ชะนีก้านยาว
๓. กลุ่มก้านยาว จำแนกพันธุ์ได้ ๘ พันธุ์ เช่น ก้านยาว ก้านยาววัดสัก ก้านยาวพวง
๔. กลุ่มกำปั่น จำแนกพันธุ์ได้ ๑๓ พันธุ์ เช่น กำปั่นเหลือง กำปั่นแดง ปิ่นทอง หมอนทอง
๕. กลุ่มทองย้อย จำแนกพันธุ์ได้ ๑๔ พันธุ์ เช่น ทองย้อนเดิม ทองย้อยฉัตร ทองใหม่
๖. กลุ่มเบ็ดเตล็ด เป็นทุเรียนที่จำแนกลักษณะพันธุ์ได้ไม่แน่ชัด มีอยู่ถึง ๘๑ พันธุ์
ทุเรียนพันธุ์ดี ที่นิยมกันมากคือ พันธุ์หมอนทอง ชะนี ก้านยาว ในการเลือกซื้อทุเรียน ควรดูว่า ทุเรียนผลใดแก่จัด โดยดูได้จากก้านผลแข็งสีเข้ม ปลายหนามแห้ง เปราะ สีน้ำตาลเข้ม และมีร่องหนามห่าง รอยแยกระหว่างพูเห็นชัด หากลองเคาะดู เสียงจะดังหลวมๆ โปร่งๆ หากตัดขั้วผลออกจะมีน้ำใสๆ ซึ่งมีรสหวาน ที่สังเกตง่ายมากคือ ทุเรียนที่ผลสุกรับประทานได้ จะมีกลิ่นหอมแรงขึ้นตามลำดับ
โดยทั่วไป ทุเรียนดีจะมีลักษณะเนื้อมาก เนื้อละเอียดสีเหลืองเข้ม เกาะกันเป็นพู คงรูป ไม่เละ ถึงสุกงอมก็ไม่แฉะ กลิ่นน้อย เมล็ดลีบ รสหวานอร่อย
เนื่องจากทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจ มีการผลิต เพื่อบริโภคในประเทศ และส่งออก ในรูปผลไม้สดจำนวนมาก เกษตรกร ผู้ผลิต และผู้ส่งออก จึงต้องแสวงหา วิธีการควบคุมการผลิตทุเรียน ทั้งในด้านปริมาณ และคุณภาพ เกิดการวิจัย และพัฒนา เทคโนโลยีการผลิตอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การเตรียมสภาพต้นทุเรียนให้พร้อม เพื่อการออกดอก การจัดการ เพื่อส่งเสริมการออกดอก และติดผล รวมทั้งการป้องกัน และกำจัดโรคและแมลง ที่เหมาะสม ทำให้ทุเรียนที่ส่งออกจากประเทศไทย มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ และมีราคาดี
ประเทศไทยมีผลไม้หลายชนิด ผลิตผลออกตามฤดูกาลตลอดปี บางชนิด ผลิดอกออกผลในฤดูกาลที่ตรงกัน เช่น มะม่วง ทุเรียน ทำให้ผลิตผลราคาต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีที่มีผลผลิตสูง
วิทยาการทางการเกษตรได้ช่วยให้ชาวสวนสามารถขยายช่วงฤดูการผลิต ทุเรียนออกสู่ตลาดได้ประมาณ ๙ เดือน เริ่มจากเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงเดือนตุลาคม โดยแบ่งประเภทการผลิตเป็น ทุเรียนก่อนฤดู ทุเรียนตามฤดูกาลปกติ ทุเรียนล่า และทุเรียนทวาย
ทุเรียนก่อนฤดู ผลิตได้ดีในบางพื้นที่ของจังหวัดระยอง และจันทบุรี ผลผลิตก่อนฤดู ออกสู่ตลาด ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน